เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีน กล่าวในการแถลงข่าวเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติ พยายามติดต่อประสานงานกับผู้ผลิตวัคซีนทั้งที่ผลิตวัคซีนออกมาแล้ว และวัคซีนที่อยู่ระหว่างการวิจัย ตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. 2563 โดยพยายามหาช่องทางการจองซื้อล่วงหน้าแม้จะอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย จนกระทั่งมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 18 (4) ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงทางวัคซีน ให้สถาบันวัคซีนฯ สามารถจองวัคซีนที่อยู่ระหว่างการวิจัยได้ จึงทำให้สามารถจองวัคซีนแอสตราเซเนกาได้รวมทั้งสิ้น 61 ล้านโด๊ส
ทั้งนี้ ก่อนการลงนามในส่วนใดจะมีการส่งปรึกษาหารือหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศ ทุกอย่างในการดำเนินงานของภาครัฐจำเป็นต้องมีระบบระเบียบ จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เป็นที่มาที่ทำให้เกิดความรับรู้ว่า การจัดหาวัคซีนของเราอาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของข้อจำกัดที่มี ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชน ที่ทางสถาบันวัคซีนฯ แม้ว่าจะได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด ในการระบาดโควิด-19 และการกลายพันธุ์ที่เราไม่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า รวดเร็วกว่าช่วงปีที่แล้ว ต้องขอกราบอภัยอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อจากนี้ได้พยายามจัดหาวัคซีนสำหรับปีนี้ และปี 2565 เพิ่มเติม โดยในปี 2565 จะมีการจัดหาจำนวน 120 ล้านโด๊ส โดยจะพิจารณาดำเนินการกับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการดำเนินการผลิตวัคซีนรุ่น 2 ที่ตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการส่งมอบได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เราจะต้องเร่งดำเนินการเพราะไม่สามารถจะรอเวลาได้จำเป็นต้องจองวัคซีนล่วงหน้า ทั้งนี้ ภายใต้การจัดหาวัคซีน เราก็ยังมีการพูดคุยเรื่องการเข้าโครงการโคแวกซ์ อยู่ระหว่างพูดคุยกับหน่วยงานกาวี เพื่อที่จะเจรจาการจัดหาวัคซีนร่วมกับโคแวกซ์ โดยมีเป้าหมายการได้รับวัคซีนปี 65 เพิ่มเติมจากการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโดยลำพัง ทั้งนี้หากมีข้อสรุปเบื้องต้นชัดเจนก็จะนำเสนอผ่านคณะทำงาน คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องต่อไป
รวมถึงยังให้การสนับสนุนการวิจัยภายในประเทศเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นการหาเทคโนโลยีเพื่อมาทำความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็จะมีการแสวงหาความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศที่ประสงค์จะขยายกำลังการผลิตในการผลิตวัคซีนในแบบฟอร์มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อตาย ชนิดไวรัลเวกเตอร์ หรือโปรตีนซับยูนิต ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมดำเนินการประสานงานที่จะดูทิศทางการดำเนินงานต่างประเทศ
สำหรับการพัฒนาวัคซีนในประเทศไม่ว่าจะเป็น mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม วัคซีนของบริษัทไบโอเนท เอเชีย วัคซีนของบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ทั้ง 4 บริษัทมีความก้าวหน้าในการวิจัยพัฒนา ขณะนี้รับทราบข่าวว่าวัคซีนขององค์การเภสัชกรรมเริ่มทำการทดสอบในคนไปแล้ว รวมถึงวัคซีน mRNA ของจุฬาฯ ก็มีการทดสอบในคนแล้วเช่นกัน ระหว่างการรอผลส่วนนี้เราก็จะสนับสนุนการวิจัยวัคซีนในประเทศอย่างเต็มที่รวมทั้งการวิจัยพัฒนาความรู้อื่นๆ เพื่อจะมาสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในประเทศต่อไปข้างหน้า.