น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยในงาน เสวนาออนไลน์ในหัวข้อ“ดีล True-Dtac ต้องโปร่งใส กสทช. ต้องรับฟังผู้บริโภค” ว่า  กรณีการควบรวมของ ทรู-ดีแทค นั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความสำคัญโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการผูกขาด จึงไม่เห็นด้วย เพราะทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลง ซึ่งราคาจะส่งผลอย่างแน่นอน โดยงานวิจัยในประเทศอังกฤษ เมื่อผู้ให้บริการจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย ทำให้ผู้บริโภครับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งในส่วนของประเทศไทย หากผู้ให้บริการรายใหญ่จาก 3 ราย เหลือ 2 ราย จะส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้และมีทางเลือกลดลง จึงขอให้การดำเนินการเรื่องนี้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างรอบครอบ และควรเป็น กรรมการ กสทช. ชุดใหม่ในการพิจารณาดำเนินการ

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การควบรวมของ ทรู-ดีแทค เป็นไปได้สองทาง คือ ทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพและมีนวัตกรรมมากขึ้น กับอีกมุมอาจเพิ่มอำนาจการผูกขาดทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ จึงต้องชั่งระหว่างข้อดีและข้อเสียของสองข้อนี้ โดยในทางกำกับดูแลในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ จะดูผลต่อผู้บริโภคอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าเป็นผลเสียอย่างร้ายแรงก็จะห้ามควบรวม แต่หากมีผลเสียบางส่วนก็จะอนุญาต แต่กำหนดเงื่อนไข ซึ่งในกรณี ทรู-ดีแทค จะเหลือผู้ประกบการเหลือ 2 ราย ทำให้ตลาดกระจุกตัว ผู้ประกอบการทุกรายได้ประโยชน์ ดูจากราคาหุ้นของทั้งสามบริษัทเพิ่มขึ้น ทั้งที่บางรายไม่ได้ควบรวมด้วยและบางรายผลประกอบการยังไม่ค่อยดี ซึ่งในแง่ผู้บริโภค มีทางเลือกน้อยลง จึงไม่เป็นประโยชน์ สมควรระงับไม่ให้มีการควบรวมเกิดขึ้น

“หากมีการควบรวมเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ทำให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ยาก ราคาลดลงได้ช้า ผู้ใช้บริการและธุรกิจ ที่ทำโซลูชั่นต่างๆ จะมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งการเข้าสู่เศรฐกิจดิจิทัลก็จะมีการผูกขาดจากแพลตฟอร์ต่างๆ จากสหรัฐและจีนอยู่แล้ว จนเกิดการผูกขาดสองชั้น ทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้ยากในเศรษฐกิจดิจิทัล และในอนาคตจะก้าวสู่ยุคเมตาเวิร์ส ก็จะมีการใช้ปริมาณดาต้าจำนวนมหาศาล หากมีราคาสูง จะทำให้ไทยอยู่ในโลกดิจิทัลได้ยากขึ้น กรณีนี้จึงเป็นผลเสียต่อผู้บริโภค หากไม่สามารถระงับความเสียหายที่เกิดได้ จะทำระบบการกำกับดูแลธุรกิจผูกขาดในไทยทั้งระบบล้มเหลว ทั้ง กสทช. และ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า”

ด้านนายประวิทย์ สี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ในการพิจารณาเรื่องนี้ต้องดูข้อมูลประกอบพิจารณา แต่อยากให้ดูว่ามีประเด็นซ่อนเร้นหรือไม่ที่เป็นแรงจูงใจให้เอกชนควบรวมครั้งนี้ และการควบรวมแล้วจะเกิดอะไรขึ้น หรือไม่ควบรวม อุตฯ โทรคมนาคมจะเดินต่อไปได้หรือไม่  ซึ่งทาง กสทช .ต้องชี้แจงให้ได้ จึงยังไม่มีการฟังธงว่าจะให้ควบรวม หรือไม่ให้ แต่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งการพิจารณาเรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวิเคราะห์โครงสร้างตลาด จำนวนผู้ให้บริการที่เหมาะสมในประเทศไทยขั้นต่ำควรมีกี่ราย หากผลการศึกษาควรมี 3 ราย การควบรวมลดเหลือ 2 จึงไม่เหมาะสมควบรวม แต่หากผลศึกษาควรมี 2 ราย การควบรวมครั้งนี้ก็ไม่มีปัญหา รวมถึงต้องมีการศึกษาผลกระทบระยะยาวจากการควบรวมด้วย