พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการ น้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝน เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยจัดลำดับความสำคัญที่ประชาชนต้องไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคก่อนอันดับแรกและประเมินความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในกิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตร เพื่อออกมาตรการให้ความช่วยเหลือรายพื้นที่หรือบรรเทาผลกระทบให้เกิดน้อยที่สุด ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการบรรเทาปัญหาภัยแล้งในฤดูกาลหน้าได้มอบหมายให้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2564 รวมทั้งสิ้น 18,250 แห่ง ปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถพัฒนาเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 403 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 2.1 ล้านครัวเรือน ซึ่งโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน เป็นหนึ่งในโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลอยู่ระหว่างดำเนินการ ในปีงบประมาณ 2564-2565 นี้ จำนวน 199 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ 44 แห่งภาคกลาง 57 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 48 แห่ง และภาคใต้ 50 แห่ง หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะมีประชาชนได้รับประโยชน์ ไม่น้อยกว่า 39,800 ครัวเรือน ปริมาณน้ำที่ใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 17.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยรูปแบบของโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาลขนาด 6 นิ้ว จำนวน 2 บ่อ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 3 แรงม้า หอถังเหล็กเก็บน้ำชนิดรักษาแรงดันขนาด 80 ลูกบาศก์เมตร ถังกรองสนิมเหล็กขนาดใหญ่ จุดจ่ายน้ำถาวรสำหรับน้ำเพื่อการอุปโภค และอาคารติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำแบบ Reverse Osmosis (RO) เพื่อเป็นจุดจ่ายน้ำดื่มสะอาดสำหรับประชาชนนอกจากนี้ ยังได้เพิ่มระบบกระจายน้ำบาดาลผ่านท่อเมนเพื่อต่อเข้ากับระบบประปาเดิมของชุมชน เพื่อให้บริการน้ำกินน้ำใช้แก่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนให้มีการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคเข้าถึงทุกครัวเรือนทั่วประเทศ 

สำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคเนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรประมาณ 149 ล้านไร่ เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานประมาณ 116 ล้านไร่ ที่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ดังนั้น น้ำ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงต่อภาคการผลิตด้านการเกษตร หากน้ำผิวดินมีไม่เพียงพอ อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอน เกิดภาวะหนี้สินและความเสี่ยงต่อการลงทุน ไม่มีความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม รัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงให้ความสำคัญกับ “น้ำบาดาล” ซึ่งมีปริมาณกักเก็บจำนวนมาก สามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ มีปริมาณเพียงพอและมีคุณภาพน้ำที่ดี สามารถนำมาใช้ได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้จัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรรวมถึงเกษตรแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2564 รวมทั้งสิ้น 11,661 แห่ง ปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถพัฒนาเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น 495 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี พื้นที่เกษตรกรรมมีแหล่งน้ำบาดาลเพิ่มขึ้นจำนวน 680,000 ไร่ จำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 66,000 ครัวเรือนซึ่งโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลมี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พื้นที่ 60 ไร่ 2) โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ และ 3) โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่

ด้าน นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 โดยรัฐบาลได้ยกระดับความเข้มข้นของมาตรการป้องกันและเฝ้าระวัง เพื่อชะลอและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้น พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งจัดหาและสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดที่ผลิตจากน้ำบาดาลบรรจุขวดไปมอบให้ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคของหน่วยงานต่างๆ โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลรับผิดชอบส่วนกลางพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1-12 ได้แก่ ลำปาง สุพรรณบุรี สระบุรี ขอนแก่นนครราชสีมา ตรัง กำแพงเพชร ราชบุรี ระยอง อุดรธานี อุบลราชธานี และสงขลา รับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียง ซึ่งแต่ละแห่งจะสูบน้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่สำนักงาน แล้วนำไปผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพื่อให้ได้คุณภาพน้ำดื่มสะอาดตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) บรรจุน้ำลงในภาชนะขนาดแตกต่างกัน 6 ขนาด ได้แก่ ขวดพลาสติกขนาด 350, 500, 750 มิลลิลิตร และ 1.5 ลิตร แกลลอนพลาสติกขนาด 5 ลิตร และ 20 ลิตร นำไปแจกจ่ายตามชุมชนและโรงพยาบาลของแต่ละจังหวัดปัจจุบันแจกจ่ายน้ำดื่มสะอาด ไปแล้วกว่า 550,000 ขวด และอีก 16,000 แกลลอน คิดเป็นปริมาณน้ำรวมมากกว่า 500,000 ลิตร