“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือนที่ 32.09 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะลดช่วงบวกลงบางส่วนปลายสัปดาห์ หลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ตามปัจจัยทางเทคนิคหลังแข็งค่าผ่านแนวสำคัญทางจิตวิทยาหลายระดับ
ประกอบกับยังคงได้รับอานิสงส์จากทิศทางเงินทุนไหลเข้าของต่างชาติ และแรงขายเงินดอลลาร์ ที่คาดว่ามาจากผู้ส่งออกที่เชื่อมโยงกับจังหวะการปรับขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก อย่างไรก็ดีกรอบการแข็งค่าของเงินบาทเริ่มจำกัดลงช่วงปลายสัปดาห์สอดคล้องกับการกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ
ทั้งนี้ ในวันศุกร์ (18 ก.พ.) เงินบาทปิดตลาดที่ 32.16 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 32.70 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ก.พ.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.80-32.70 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 และข้อมูลการส่งออกเดือน ม.ค.ของไทย ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/การใช้จ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือน ม.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 (prelim.) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามสถานการณ์ในยูเครน การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีน รวมถึงข้อมูลเบื้องต้นของดัชนี PMI เดือน ก.พ. ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐ ด้วยเช่นกัน