แพทยสภาได้รวบรวมจำนวนแพทย์ที่เสียชีวิตด้วยโรคต่างๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) มีจำนวน 297 คน ในจำนวนนี้มีแพทย์ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและโรคที่ไม่ระบุสาเหตุโรคชัดเจนถึง 60% (เฉพาะที่ระบุว่าเกิดจากโรคหัวใจ 10%) ทั้งนี้ มีแพทย์ที่เสียชีวิตโดยมีอายุน้อยกว่าอายุขัยเฉลี่ยถึง 118 คนคิดเป็น 40% ของแพทย์ผู้เสียชีวิตทั้งหมด (อายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยเพศชาย 73 ปี และเพศหญิง 77 ปี) โดยแพทย์ที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจ​อายุน้อยที่สุดในรายงานมีอายุเพียง 31 ปี

ในวันแห่งความรัก 14 ก.พ. 65 โรงพยาบาลเมดพาร์ค ร่วมกับองค์กรพันธมิตร เปิดตัวโครงการเพื่อสังคม อาสาดูแลหัวใจหมอ (Save Doctors’ Heart) เปิดโอกาสให้แพทย์ไทยสามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัย คัดกรอง เพื่อค้นหาปัญหาของหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวผิดปกติ และให้การรักษาหากตรวจพบ ที่ศูนย์หัวใจ (Cardiology Center) โรงพยาบาลเมดพาร์ค โดยไม่มีค่าใช้จ่ายของแพทย์ผู้ใช้บริการ ระยะเวลาโครงการทั้งหมด 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 65 ถึง 12 ส.ค. 65

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า ในปัจจุบัน อัตราส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากรในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อยอยู่มาก เมื่อเทียบกับภาระงานที่ต้องทำแต่ละวัน เราเห็นได้ว่าแพทย์ที่ยังปฏิบัติงาน 40,000 คน ต้องตรวจผู้ป่วยนอกท่านละ 10,000 คนต่อปี และดูแลผู้ป่วยในอีกประมาณ 250 คนต่อปี หากหายไปหนึ่งท่าน ปริมาณงานในการรักษาก็จะแบ่งถ่ายไปอยู่กับคนที่เหลือ

ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า ได้ริเริ่มแคมเปญ Save Doctors, Save People, Save Thailand ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเร่งทำการฉีดวัคซีนโควิดเพื่อรักษาชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนให้ได้เร็ว และมากที่สุด และในปีนี้ทางโรงพยาบาลก็มีความภูมิใจที่ได้เปิดตัวโครงการเพื่อสังคมใหญ่อีกโครงการหนึ่งภายใต้ชื่อ ‘อาสาดูแลหัวใจหมอ’

ศาสตราธิคุณ นายแพทย์วสันต์ อุทัยเฉลิม หัวหน้าศูนย์หัวใจ และแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า โรงพยาบาลเมดพาร์คมีความพร้อมในการรักษาโรคหัวใจที่มีความซับซ้อน ทั้งในส่วนของแพทย์เฉพาะทาง และทีมสหสาขาวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจทุกสาขา รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง

ด้าน นายแพทย์ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านหัวใจและทรวงอก แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด กล่าวในเวทีเสวนา หัวข้อ Heart Attack รู้ทัน ป้องกันได้: ‘หัวใจวายเฉียบพลัน’ ภัยเงียบร้ายแรงไร้สัญญาณเตือน กล่าวว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือภาวะหัวใจวายเกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการตีบตัน ซึ่งมีสาเหตุอยู่ที่การเสื่อมของเส้นเลือดที่ปกติจะมีการเสื่อมถอยตามวัย และมีปัจจัยเสี่ยงที่มีทั้งควบคุมได้ เช่นพฤติกรรมการใช้ชีวิตรวมถึงความเครียด และความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เช่นผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง คนอายุเยอะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า และกรรมพันธุ์ทีทำให้เกิดภาวะนี้ได้ ทั้งนี้ค่าผ่าตัดหัวใจในโรงพยาบาลเอกชนเฉลี่ยประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านบาทเพราะต้องใช้ปอดและหัวใจเทียมซึ่งเป็นพลาสติกใช้แล้วทิ้งในระหว่างที่ต้องเย็บแผลเพื่อให้คนใข้ใช้หายใจ นอกจากนี้ยังใช้เลือดและเครื่องมือ ขณะที่โรงพยาบาลรัฐมีค่าผ่าตัดทุนอยู่ที่ประมาณ 1-2 แสนบาทเพราะรัฐมีงบประมาณสนับสนุน ทั้งนี้กรณีที่ต้องผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ เกิดขึ้นกรณีที่มีเส้นเลือดตีบบริเวณต้นทาง และมีเส้นเลือดตีบตันหลายจุด และในคนไข้ที่ผ่าตัดใส่ขดลวดไปแล้วเกิดภาวะตีบตัน และผนังหัวใจมีแคลเซียมเกาะ

ด้านนพ.ชาติ วานิชสวัสดิ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่าบางครั้งพบว่าคนที่เป็นนักกีฬา หรือคนอายุน้อยหัวใจวายเฉียบพลันและเสียชีวิต ในคนกลุ่มนี้พบว่า มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาเป็นโรคที่เป็นมาแต่กำเนิดจากพันธุกรรมที่ผิดปกติ และพบว่าผู้ที่มียีนส์ที่ผิดปกติที่ทำให้มีระดับโคเลสเตอรอลสูงมาก มีโอกาสทำให้เส้นเลือดตีบเร็วกว่าวัย ควรเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อลดความเสี่ยง ดังต่อไปนี้ ควบคุมน้ำหนัก (ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 30) งดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์และมีกากใยเยอะ หากทำได้ตามนี้ ความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวายก็จะลดลง ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายการทำสวนหัวใจประมาณ 2-3แสนบาทขึ้นอยู่กับการใช้จำนวนขดลวดและบัลลูน

ด้านพญ.จิรภา แจ่มไพบูลย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวเสริมว่า มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการออกกำลังกายสามารถที่จะลดโอกาสในการกลับมานอนโรงพยาบาล ลดอัตราการเสียชีวิต และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วยทุกท่านได้

แพทย์ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของโครงการ ‘อาสาดูแลหัวใจหมอ’ และลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ https://medpark.hospital/DoctorsHeartProject

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ แผนกศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเมดพาร์ค เบอร์โทรศัพท์ 02-090-3104 เวลาทำการ 08.00-20.00 น.