อีกหนึ่งความสุขที่เกิดขึ้นกับคนกรุงเทพฯ จากปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องในปีนี้คือ ภูมิทัศน์ใหม่ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ที่ได้รับการปรับปรุงไปแล้ว โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) วางแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 นี้ เพื่อมอบทั้งความสะดวกสบายอย่างเสมอภาคและสุนทรียภาพจากความเป็นระเบียบ ความงาม รวมถึงงานออกแบบสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ที่หวังจะให้กรุงเทพฯ เป็น “มหานครปลอดภัย” เพื่อก้าวสู่การเป็น “มหานครแห่งเอเชีย”
พื้นที่แห่งความสุขที่เสร็จสมบูรณ์
ปี 2564 นับเป็นอีกหนึ่งปีที่กรุงเทพฯ ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ในหลายพื้นที่ และเหล่านี้คือตัวอย่างของความสำเร็จที่เกิดขึ้น
ถนน 4 สายในเขตพระนคร ได้แก่ ถนนข้าวสาร ถนนรามบุตรี ถนนตานี และถนนไกรสีห์ ส่งผลให้คนเดินเท้าและภาคธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างลงตัวมากยิ่งขึ้น
ทางเท้าของถนนพระรามที่ 1 ช่วงแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ระยะทาง 2 กิโลเมตร ที่เป็นต้นแบบทางเท้าที่มอบความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม ทั้งคนปกติและผู้พิการสามารถใช้เส้นทางนี้ได้อย่างสะดวก โดยได้รับความร่วมมือในการออกแบบจากนักภูมิสถาปัตย์ สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีการปรับภูมิทัศน์ถนนรัชดาภิเษกที่ได้รับคำชื่นชมในโซเชียลมีเดีย โดยมีสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ทั้งปรับปรุงผิวจราจร ตีเส้นจราจร จัดระเบียบทางเท้า และทำทางลาดสำหรับผู้พิการ
ต่อยอดการปรับภูมิทัศน์ 5 ย่าน 10 โครงการ
เริ่มขึ้นแล้วสำหรับแผนพัฒนา “กรุงเทพบูรณาการ ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต เฟส 2 – 5 ย่าน 10 โครงการ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแผนสำคัญของกรุงเทพมหานครในปี 2565 โดยมีพื้นที่ที่จะได้รับการพัฒนาทางเท้า ดังต่อไปนี้
– ย่านศูนย์กลางธุรกิจ 1. ถนนสาทรและคลองสาทร (ช่องนนทรี – ลุมพินี) ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร 2. ถนนสีลม (แยกนราธิวาส – ถนนเจริญกรุง) ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร
– ย่านเมืองเก่า 1. ถนนเยาวราช (คลองโอ่งอ่าง – วงเวียนโอเดียน – คลองผดุงกรุงเกษม) ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร 2. ส่วนด้านล่างสะพานพระปกเกล้า
– ย่านธนบุรี ได้แก่ ถนนบรมราชชนนี (สะพานพระปิ่นเกล้า – เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า – ซอยรุ่งประชา) ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร
– ย่านเศรษฐกิจใหม่ 1. ถนนสุขุมวิท (แยกราชประสงค์ – แยกอโศก) ระยะทาง 4 กิโลเมตร 2. ถนนราชดำริ (แยกราชประสงค์ – ถนนพระราม 4) ระยะทาง 1.7 กิโลเมตร และ 3. แยกอโศก – แยกพระโขนง
– ย่านนวัตกรรมและศูนย์การแพทย์ 1. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (รอบอนุสาวรีย์ และ 4 เกาะ) 2. ซอยโยธี (ถนนพญาไท – ถนนพระราม 6) ระยะทาง 1 กิโลเมตร
นอกจากนี้ มีอีกหนึ่งโครงการสำคัญคือทางเท้าของถนนพระราม 1 ช่วงแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ที่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นต้นแบบทางเท้าที่มอบความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม ทั้งคนปกติและผู้พิการสามารถใช้เส้นทางนี้ได้อย่างสะดวก โดยได้รับความร่วมมือในการออกแบบจากนักภูมิสถาปัตย์ สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
เชื่อมโยงทุกมิติเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนกรุงเทพฯ
ไม่เพียงทางเท้าที่จะได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ หากยังมีการปรับภูมิทัศน์ของคลองหลายสายที่จะได้รับการพัฒนาต่อยอดจากปีที่แล้วให้ดียิ่งขึ้น เช่น คลองผดุงกรุงเกษม คลองบางลำพู คลองหลังวัดปรินายก คลองยายสุ่น คลองหลอด คลองลาดพร้าว รวมไปถึงอีกหนึ่งโครงการใหญ่อย่างโครงการสะพานเขียว ทางเดิน – ทางจักรยานเชื่อมระหว่างสวนเบญจกิติกับสวนลุมพินี ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จและได้รวมอยู่ในแผนการปรับปรุงสวนลุมพินีครบรอบ 100 ปี เมื่อโครงการดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่สามารถเดินเที่ยว ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากมายอย่างเต็มรูปแบบ
อ่านบทความกทม.เพิ่มเติมได้ที่ https://link.bookkurry.com/bkk_news_issue_279