เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากผลการตรวจสอบกรณีมีผู้ป่วยจากการรับประทานไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อนในจังหวัดชลบุรี ซึ่งผลวิเคราะห์จากตัวอย่างไส้กรอกที่ผู้ป่วยรับประทานทั้ง 4 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อ “ฤทธิ์” ฮอตดอกรมควัน และฟุตลองไก่รมควัน ไม่ระบุยี่ห้อ พบว่ามีปริมาณไนไตรท์เกินจากที่กฎหมายกำหนดถึง 35-48 เท่า จัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และจากข้อมูลข้างต้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศร่วมเฝ้าระวังในพื้นที่ โดยมีการตรวจสอบสถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบขณะนี้มีจังหวัดที่ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายในท้องตลาดเสร็จแล้ว 66 จังหวัด มีการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่มีความเสี่ยงส่งตรวจวิเคราะห์ 102 ตัวอย่าง (อยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์) มีการดำเนินคดีกรณีจำหน่ายไส้กรอกที่ไม่มีฉลากแสดง คือที่ จ.สระบุรี จ.อุทัยธานี และ จ.อยุธยา
ทั้งนี้ กรณี จ.สระบุรี ตรวจพบเป็นไส้กรอกที่รับมาจากสถานที่ผลิตเถื่อนในจังหวัดชลบุรี ส่วนของ จ.อุทัยธานี ตรวจสอบพบมีสินค้าที่ฉลากเหมือนกับที่เจอใน จ.อยุธยา ด้วย เป็นเหตุให้มีการขยายผลดำเนินการจับกุมโรงงานลักลอบผลิต
ไส้กรอกโดยไม่ขออนุญาตที่ จ.อยุธยาอีก 2 แห่ง กรณีนี้มีการอายัดสถานที่และของกลางมูลค่ารวมกว่า 4.3 ล้านบาท โดยตรวจจับและดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่มี อย. จำนวน 13 รายการ คือ 1. ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ตรา เคน หมูชีส (มีเปลือก) 2. ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป KC คอกเทลรมควันไก่ (มีเปลือก) 3. ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป KC คอกเทลรมควันหมู (มีเปลือก) 4. Super-Rich ไส้กรอกชีสนม (มีเปลือก) 5. Super-Rich คอกเทลรมควัน (มีเปลือก) 6. Super-Zaab ไส้กรอกแฟรงค์ไก่ (มีเปลือก) 7. เคนจิ ฟุตลองชีส (มีเปลือก) 8. เคนจิ ฟุตลองรมควันหมู (มีเปลือก) 9. ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป KC 10. KC หมูยออุบล 11. ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ตรา FC จัมโบ้คลาสสิก (มีเปลือก) 12. ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ตรา ริช ไส้กรอกรมควัน (มีเปลือก) 13. ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ไส้กรอก ไม่มีฉลาก
นอกจากนี้ สสจ.ทุกจังหวัดได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการเพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการผลิตโดยเฉพาะขั้นตอนการเติมวัตถุกันเสีย และกรณีสำนักงานอาหารและยา FDA กระทรวงสาธารณสุขพม่า ได้เตือนประชาชนห้ามรับประทานไส้กรอกจากประเทศไทย ยี่ห้อ “ฤทธิ์” นั้น อย.ได้ขอความร่วมมือ ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ติดชายแดนเพิ่มการเฝ้าระวังแหล่งจำหน่ายในตลาดชายแดน และเพิ่มการแจ้งเตือนภัยผู้บริโภคให้ครอบคลุมมากขึ้น
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อด้วยว่า ขอเตือนให้ผู้ผลิตไส้กรอกต้องขออนุญาตสถานที่ผลิตให้ถูกต้อง เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐาน GMP และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคควรเลือกซื้อไส้กรอกที่มีเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. มีชื่ออาหาร ขื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน ส่วนประกอบและข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ ซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และหากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ