เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ “กระทรวงสาธารณสุข” ว่า วันนี้มีการลงนามในสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA จำนวน 20 ล้านโด๊ส ระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กับบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นสักขีพยานโดยมีกำหนดการส่งมอบภายในไตรมาส 4 ส่วนที่สหรัฐอเมริกาจะบริจาคไฟเซอร์ให้ไทย 1.5 ล้านโด๊สนั้นจะส่งมอบปลายเดือนนี้ ก็จะทำให้การฉีดวัคซีนครอบคลุมประชาชนมากขึ้น เพื่อการควบคุมโรคที่ดียิ่งขึ้น พร้อมกันนี้จะมีการหารือเรื่องการจัดหาวัคซีนสำหรับปี 2565 ต่อด้วย

เพราะฉะนั้นถ้าดูในสถานการณ์ขณะนี้เรามีการลงนามซื้อวัคซีนจากแอสตราเซเนกาจำนวน 61 ล้านโด๊ส วัคซีนซิโนแวค 19 ล้านโด๊ส และไฟเซอร์ที่เพิ่งลงนามล่าสุด ทำให้มียอดรวมวัคซีนทั้งหมดที่มีการจองซื้อ มีสัญญาส่งมอบกันรวมประมาณ 100 ล้านภายในปี 2564 อย่างไรก็ตามความต้องการฉีดวัคซีนของประชาชนในขณะนี้มีมาก กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนเข้ามาเพิ่มเติมต่อไปหากมีความคืบหน้าจะแจ้งประชาชนต่อไป

สำหรับแผนกำหนดการฉีดวัคซีนของไทยในเดือนต่อไปนั้นต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านโด๊ส เพราะฉะนั้นในส่วนของแอสตราฯ ซึ่งจะส่งมอบให้ไทยราวๆ 5-6 ล้านโด๊ส บวกกับที่เรามีการเจรจรากับไฟเซอร์และวัคซีนแหล่งอื่นๆ เข้ามา เชื่อว่า จะทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนเพียงพอในการฉีดตามแผน อีกทั้งขณะนี้มีการปรับสูตรการฉีดใหม่ภายหลังมีการศึกษาจากทั้งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และไบโอเทค พบว่าการฉีดวัคซีนวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ ฉีดแอสตราฯ เป็นเข็ม 2 ทำให้ภูมิสูงขึ้นหลายเท่า ข้อดีอีกประการหนึ่งคือจะทำให้ฉีดวัคซีนครอบคลุม รวดเร็วมากขึ้น จากเดิมฉีกแอสตราฯ 2 เข็ม ใช้เวลานานกว่า 12 สัปดาห์ถึงจะมีภูมิสูง แต่เมื่อปรับสูตรแล้วจะใช้เวลาเพียง 4 สัปดาห์ ทำให้ภูมิของประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะรองรับการระบาดได้ดีขึ้น 

นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า สำหรับการทำสัญญาสั่งจองวัคซีนแอสตราฯ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2563 เป็นการลงนาม 3 ฝ่ายคือกรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และบริษัทแอสตราเซนเนกา ซึ่งในสัญญามีการระบุว่าผู้ที่ลงนามในสัญญาจะต้องไม่เปิดเผยความลับในสัญญา อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเปิดเผยสัญญาจะต้องได้รับความยินยอมจากทั้ง 3 ฝ่ายร่วมกัน ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นการทำผิดสัญญาที่จะเป็นปัญหาได้ คือ เมื่อมีการทำผิดสัญญาอาจจะมีการยกเลิกสัญญา อาจจะไม่มีการส่งวัคซีนมาให้ประเทศไทย เป็นต้น ดังนั้นการรักษาความลับในสัญญาจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตามในสัญญาไม่ได้มีประเด็นอะไรที่เป็นความซับซ้อนมากนัก แต่ประเด็นที่ทางบริษัทเอกชนเขาต้องคำนึงถึง คือ ความลับทางการค้าของเขาที่อาจจะมีผลต่อการทำสัญญากับบริษัทอื่นๆ ในหลายประเทศ อย่างไรก็ตามในแง่ของราคา และจำนวนจองมีการเปิดเผยมากแล้วทางสาธารณะ

“ส่วนการส่งมอบจะไม่ใช่การส่งมอบเหมือนที่เป็นข่าวที่บอกว่าเราต้องการแค่ 3 ล้าน เรามีเอกสารชัดเจนว่ากระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยต้องการวัคซีนฉีดระยะต่อไปประมาณ 10 ล้านโด๊ส และตอนนี้ทางบริษัทได้ส่งสัญญาณและแจ้งเราค่อนข้างแน่นหนาว่าจะส่งให้เราอย่างน้อยประมาณเดือนละ 5 ล้านเป็นอย่างต่ำ แต่ถ้ากำลังการผลิตเพิ่มขึ้นก็จะส่งให้มากขึ้นทั้งนี้อยู่ในการเจรจาต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในขณะนี้ของประเทศไทยทุกคนประสบกับภาวะที่เราไม่ค่อยอยากให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่เราจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนทุกคนจริงๆ พยายามอยู่บ้านให้มากที่สุด เวิร์ก ฟรอม โฮม ถ้าบ้านท่านมีผู้สูงอายุ มีผู้มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะในพื้นที่การระบาด กรุงเทพฯ ก็ขอให้พาคนเหล่านี้ไปรับวัคซีนในจุดที่กำหนด บางจุดจะมีทีมเคลื่อนที่เร็วลงไปในการตรวจคัดกรอง ไปให้ความรู้และจะฉีดวัคซีนในบางจุด ก็ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ที่ลงไปก็ขอความร่วมมือจากทุกคน.