เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงได้เล็งเห็นถึงความสําคัญของการนําระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่มีพื้นฐานจากความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy เพื่อมาช่วยในการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทยเพื่อสร้างความโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากยิ่งขึ้น

งานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จึงเปรียบเหมือนอาวุธสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ และยกระดับให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยภารกิจสำคัญของงานเทศกาลฯ นอกเหนือจากการเป็นกิจกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแล้ว ยังเป็นเวทีแสดงผลงานของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ ที่มุ่งเน้นในการนำความคิดสร้างสรรค์ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และทุกอุตสาหกรรม อันจะเป็นการนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่ม GDP ของประเทศอีกด้วย สอดคล้องกับที่ “กรุงเทพฯ” ขึ้นแท่นเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (Bangkok City of Design)  ภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network)

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 หรือ Bangkok Design Week 2022 (BKKDW2022) จัดครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” งานเทศกาลฯ ที่จะชวนทุกคนมาร่วมสำรวจความคิดสร้างสรรค์ คิดหาหนทางอยู่ร่วมกับสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 ในหลากหลายแง่มุม เพื่อดำเนินชีวิตได้ตามปกติ (ใหม่)

ทั้งนี้ ตลอด 9 วัน อัดแน่นกว่า 200 โปรแกรมให้เตรียมพร้อมอัพเดทเทรนด์สร้างสรรค์ใหม่ ๆ พบกับงานดีไซน์ที่ “CO” ในเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัว กับการเปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์ องค์กร และหน่วยงานในสาขาต่าง ๆ ได้มาร่วมกันคิด ร่วมกันทดลองไอเดียการอยู่ร่วมกับ COVID-19 ให้เป็นปฐมบทของการคิด ใน 5 ย่านสร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละพื้นที่ย่านจะมีอัตลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะโดดเด่นแตกต่างกันไป

ไม่ว่าจะเป็นย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย : ยิ่งเก่ายิ่งเจ๋ง, สามย่าน : ครบสูตรย่านเรียนรู้มาคู่ตำนานอร่อย, อารีย์-ประดิพัทธ์ : ชิคสุดไม่ตกเทรนด์, ทองหล่อ-เอกมัย : ย่านดีไซน์ผู้มาก่อนกาล และล่าสุดย่าน “พระนคร” อีกหนึ่งย่านเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ จะเปิดตัวในฐานะหนึ่งย่านหลักที่ร่วมจัดเทศกาลฯ เป็นครั้งแรก ย่านที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตที่พร้อมต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้เข้ากับเมืองในมิติต่าง ๆ และพื้นที่อื่น ๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม ผลงาน ไบโอ แบริเออร์ (Bio Barrier) โดยทีม กิ่งก้านใบ หนึ่งในผลงานการออกแบบได้สะท้อนฉากทัศน์แห่งสภาวะจิตใจของคนไทย ซึ่งสร้างจากความหวาดกลัวและสิ้นหวังในวิกฤติโควิด ไปสู่การตระหนักรู้และค้นหาวิถีทางที่จะรอดพ้น และการอยู่ร่วมกับโควิดอย่างมีความสุข ทั้งกาย-ใจและสิ่งแวดล้อมด้วยอ้อมกอดทรงพลังของธรรมชาติ

นอกจากนี้ ทีม กิ่งก้านใบ ได้เผยแรงบันดาลใจว่า “กิ่งก้านใบ เข้ามามีส่วนร่วมแสดงผลงานสร้างสรรค์ Bio Barrier ในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ตลอดระยะ 3 ปี เราต่างเผชิญกับวิกฤติการล็อกดาวน์และหลายมาตรการสกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้สร้างความอ่อนล้าทางเศรษฐกิจและกระทบต่อชีวิตผู้คนทุกวัยทุกระดับ ดังนั้นนอกจากมาตรการกระตุ้นด้านสาธารณสุขแล้ว การรวบรวมการใช้ความคิดสร้างสรรค์จะมีส่วนช่วยให้คนไทยและชาวโลกเดินหน้าและดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดในวิถีใหม่ได้อย่างมีความสุขและอุ่นใจ

ร่วมค้นหาไอเดียสร้างสรรค์อีกครั้ง ในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565..