นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้รับมอบเงินสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ประติมากรรมปูนปั้นวัดช้างรอบ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการอนุรักษ์ครั้งนี้ถือเป็นร่วมมือจากภาคเอกชนในการอนุรักษ์แหล่งมรดกวัฒนธรรมของชาติ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สำหรับโบราณสถานวัดช้างรอบนี้ ตั้งอยู่นอกเมืองกำแพงเพชรในพื้นที่เขตอรัญญิก มีเจดีย์ประธานเป็นศูนย์กลางของวัด รอบเจดีย์ประธานมีการประดับประติมากรรมช้างปูนปั้นรอบฐานเจดีย์ประธาน จำนวน 68 เชือก มีเทคนิคการสร้างด้วยการใช้ศิลาแลงแล้วพอกแต่งปูนให้เกิดความสวยงามบนผิวภายนอก ประติมากรรมช้างพบครึ่งตัว มีส่วนหัวและขาหน้ายื่นออกมาจากฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะที่พิเศษคือ การทำปูนปั้นเป็นเครื่องประดับบนตัวช้าง เรียกว่า ช้างทรงเครื่อง พื้นที่ผนังที่คั่นระหว่างช้างแต่ละเชือกมีปูนปั้นนูนต่ำลายพันธุ์พฤกษาประดับโดยรอบ

นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประติมากรรมรูปช้างและลวดลายปูนปั้นต่างๆ อยู่ในสภาพชำรุด เสี่ยงต่อการพังทลายในอนาคต จึงต้องเร่งอนุรักษ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย และกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมประติมากรรม กองโบราณคดี จะร่วมกันจัดทำแนวทางการดำเนินงานอนุรักษ์ประติมากรรมรูปช้างและลวดลายปูนปั้นประดับวัดช้างรอบ กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565 เน้นการทำความสะอาดคราบไคล สิ่งสกปรกและวัชพืช เสริมความมั่นคงของศิลาแลง อิฐ ดินเผา ลวดลายประดับตกแต่ง ชั้นปูนฉาบและชั้นปูนปั้นเป็นหลัก โดยใช้วัสดุดั้งเดิมที่ใช้สำหรับการอนุรักษ์หรือวัสดุทดแทนที่ได้รับการยอมรับตามหลักสากล ไม่เป็นอันตรายต่อโบราณสถาน ไม่ทำให้พื้นผิวของวัสดุเปลี่ยนสภาพไป และไม่ปิดกั้นการระบายความชื้นภายในเนื้อวัสดุ ส่วนการปั้นซ่อมหรือเพิ่มเสริมให้ครบสมบูรณ์จะพิจารณาเฉพาะพื้นที่ที่จำเป็นเท่านั้น โดยระหว่างการอนุรักษ์ประติมากรรมปูนปั้นวัดช้างรอบ ได้ให้สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัยทำการสำรวจเพื่อจัดทำแผนการบูรณะองค์เจดีย์ประธานและพื้นที่โดยรอบเพื่อเสริมความงดงามขององค์เจดีย์ไปพร้อมๆ กัน โดยหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ ให้จัดทำแผนประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่เชื่อมโยง 3 แหล่งมรดกโลก ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร เข้าด้วยกันด้วย