เมื่อวันที่ 20 ก.ค. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งว่าจากกรณีปรากฏเหตุรุนแรงระหว่างการชุมนุมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนชนิด mRNA ที่บริเวณหน้ากระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 16 ก.ค. และการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้มาตรการควบคุมฝูงชนโดยการฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตา และใช้กระสุนยางเพื่อสกัดกลุ่มผู้ชุมนุม จนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนบาดเจ็บหลายราย กสม.ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการชุมนุมทั้งสองครั้ง โดย กสม.ตระหนักดีว่าปัจจุบันประเทศไทยและพื้นที่กรุงเทพมหานครกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างหนัก และมีการประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ห้ามจัดกิจกรรมและการรวมกลุ่มเกินกว่าห้าคนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของโรคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้น ผู้ชุมนุมพึงยึดหลักการชุมนุมอย่างสงบโดยปราศจากอาวุธและไม่ใช้ความรุนแรง ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐพึงใช้แนวทางในการบริหารจัดการการชุมนุมที่เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและประชาชนที่อยู่ในบริเวณการชุมนุม จากเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 16 และ 18 ก.ค. กสม.มีความห่วงใยต่อการใช้ความรุนแรง
โดย กสม.มีความเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ 1. วันที่ 16 ก.ค. มีการกระทบกระทั่งจนทำให้มีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกทุบที่ศีรษะด้วยของแข็งในขณะกำลังเข้าจับกุมแกนนำผู้ชุมนุม กสม.เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้ความรุนแรงที่ไม่ควรเกิดขึ้น และขอย้ำว่าการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ทั้งนี้ กสม.จะหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นตรวจสอบต่อไป 2.การชุมนุมวันที่ 18 ก.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมฝูงชนและยุติการชุมนุม เช่น การฉีดน้ำ การยิงแก๊สน้ำตา และการใช้กระสุนยาง ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุปกรณ์ดังกล่าวจำนวนมาก รวมทั้งผู้สื่อข่าวที่มีปลอกแขนชัดเจน นอกจากนั้นยังมีการใช้ลวดหนามหีบเพลงเป็นแนวกั้น ซึ่ง กสม.เห็นว่าอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ที่มีอันตรายและอาจมีผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุม ซึ่งตามแนวปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่เป็นอันตรายที่ไม่ถึงแก่ชีวิตเพื่อการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on the Use of Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) การใช้อุปกรณ์ที่เป็นอันตรายควรใช้เท่าที่จำเป็น เมื่อไม่สามารถใช้วิธีการอื่นที่ดีกว่าได้ และต้องใช้ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับผู้ชุมนุม ทั้งนี้ กสม.จะหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นตรวจสอบเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กสม.ขอย้ำถึงความสำคัญของการไม่ใช้ความรุนแรงไม่ว่าโดยฝ่ายใด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการดำเนินการใด ๆ ทุกฝ่ายจะรับฟังและเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง และใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหา โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนสากลและหลักนิติรัฐนิติธรรมเป็นสำคัญ รวมทั้งขอย้ำถึงความสำคัญในการคำนึงถึงสิทธิด้านสุขภาพของตนเอง ผู้อื่น และสังคมโดยรวม ในการใช้สิทธิและเสรีภาพในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย.