หากเอ่ยชื่อของ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  หรือ สดช. หลายๆคนอาจไม่คุ้น เพราะเป็นหน่วยงานภายใต้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 59 หรือได้ประมาณ 5 ปีกว่าเท่านั้น

แต่ถือว่าเป็นหน่วยงานรัฐ ที่มีภารกิจหน้าที่ที่สำคัญไม่น้อยใน “ยุคดิจิทัล” เนื่องจากต้องทำหน้าที่หลัก คล้ายๆ “สภาพัฒน์” แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ดิจิทัล” ที่ต้องขับเคลื่อนแผน นโยบาย และติดตามประเมินผล พร้อมกับเสนอแนะรัฐบาล เพื่อออกนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องดิจิทัลของประเทศ ที่เกี่ยวเนื่องทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม

ซึ่ง สดช.ได้มีผู้บริหารคนใหม่ คือ นายภุชพงค์ โนดไธสง  มานั่งเป็น เลขาธิการคณะกรรมการ ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  เมื่อ ต.ค.64 ที่ผ่านมา โดยโยกจากตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงดีอีเอส ซึ่งวิสัยทัศน์และแผนงานของ สดช. จะเดินไปอย่างไร วันนี้ มีคำตอบ!?!

ภุชพงค์ โนดไธสง

นายภุชพงค์ บอกว่า ตนไม่ใช่คนหน้าใหม่ ของ สดช. เพราะช่วงที่มีการจัดตั้งหน่วยงานในช่วงแรก ซึ่งขณะนั้นตำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ก็ได้มาช่วยงานในจัดตั้ง วางกำลังคน แผนงานและนโยบาย และได้ทำหน้าที่ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะเวลาหนึ่ง ทำให้คุ้นเคยกับทางข้าราชการ เจ้าหน้าที่ รวมงานของ สดช. อยู่แล้ว

การได้กลับมาเป็นครั้งนี้ก็ยังมีวิสัยทัศน์และค่านิยมในการทำงาน คือ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล อย่างยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีประชาคมโลก”

โดยมีนโยบายและการขับเคลื่อนเน้นไปที่ งาน พัสดุ เงิน และคน” โดยต้องมีคุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ ความคุ้มค่า และนิติธรรม เพื่อขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นรูปธรรม

สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย มี 6 ยุทธศาสตร์ ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คือ 1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ให้ประชาชนเข้าถึง โครงข่ายอินเทอร์เน็ต ความความเร็วสูงครอบคลุมทั่วประเทศ 2.ด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและส่งเสริมสตาร์ทอัพ 3.ด้านสังคม ส่งเสริมให้ประชาชนใช้อินเทอร์เน็ต เป็นเครื่องมือในด้านการศึกษาและสาธารณสุข รวมถึงการดูแลสุขภาพ

4.ด้านภาครัฐ ส่งเสริมการเชื่อมโยงข้อมูลข้ามหน่วยงานภาครัฐ  5.ด้านทุนมนุษย์ พัฒนากำลังคนที่เหมาะสม สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม   และ 6.ด้านความเชื่อมั่น  ผลักดันกฎหมายและกฎระเบียบ ที่เอื้อต่อเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

ในปีงบประมาณ 2566 นี้ ทาง สดช. จะขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการอย่างต่อเนื่องจากที่ผ่านมา คือ โครงการพัฒนาบริการโครงสร้างพื้นฐาน และความมั่นคงปลอดภัยด้านดิจิทัล  , พัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ   และโครงการจัดทำกฎระเบียบการใช้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ  

รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GPPC) ที่จะมีผลบังคับใช้เดือน มิ.ย.นี้ ตั้งเป้าดึงหน่วยงานรัฐเข้าใช้งาน 200 แห่งใน 18 เดือน และจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูลของประเทศไทย เพื่อให้การดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

ส่วนด้านสังคมดิจิทัล จะดำเนินการเกี่ยวกับศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาโครงการนี้ได้รับรางวัลจาก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ( ไอทียู) โดยมีศูนย์การเรียนรู้ ไอซีทีชุมชน จำนวน 2,277 แห่ง และมีการยกระดับ ให้เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนแล้ว จำนวน 500 แห่ง และในปีนี้ก็จะมีการยกระดับอีก 200 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนใช้เพิ่มโอกาสในการยกระดับการประกอบอาชีพและคุณภาพชีวิตของตนเอง

นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) และโครงการสำรวจข้อมูลสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ ของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 และยกระดับคนไทยให้พร้อมเข้าสู่เป็นพลเมืองดิจิทัล เป็นต้น

 ผู้บริหาร ของ สดช. ยังบอกต่อว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายธุรกิจต้องมีการปิดตัวลง มีการตกงานเกิดขึ้น ทาง สดช. จึงต้องเร่งผลัดกันให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวให้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการพัฒนาศักยภาพ ธุรกิจอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยจะส่งเสริมการใช้ประโยชน์ดัชนี ชี้วัด ระดับความพร้อมอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจ ของผู้ประกอบการ เพื่อเข้าสู่การทำธุรกรรมการค้า การเงิน ด้วยดิจิทัล

ขณะเดียวกันทิศทางและนโยบายในการพัฒนา 5จี  ของประเทศนั้น ไทยถือเป็นประเทศแรกๆในอาเซียนที่มี การประมูลและใช้งาน 5 จี ซึ่งคาดว่าภายในปี 70 ไทยจะมีประชากรที่ใช้งาน 5จี มากกว่า 70 ล้านราย และในปี  73 ตลาด 5 จี ในประเทศจะมีมูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท โดยมีแผนใช้ประโยชน์จาก 5จี ทั้งหมด 6 ด้าน คือ ด้านการเกษตร , สาธารณสุข, อุตสาหกรรม, การศึกษา , คมนาคม และสมาร์ทซิตี้

ในด้านเกษตร มีการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5จี ณ ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี จ.เชียงราย และโครงการ ร้อยใจรักษ์ จ.เชียงใหม่  การนำร่องระบบชลประทานอัจฉริยะ ณ อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย จ.อุดรธานี  ด้านสาธารณสุข ทำโรงพยาบาลอัจฉริยะ กับ ศิริราชพยาบาล ใช้เทคโนโลยีคลาด์ และ เอไอ ผ่าน 5จี ในการวินิจฉัยโรค ให้บริการ การแพทย์ฉุกเฉิน บริหารจัดการผู้ป่วยและคลังยา

ภาพ pixabay.com

ส่วนด้านคมนาคม ทำสถานีอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยี 5จี ณ สถานีกลางบางซื่อ ขณะที่ด้านการศึกษา ทำสมาร์ท แคมปัสด้วยเทคโนโลยี 5จี กับทางม.ธุรกิจบัณฑิตย์  ฯลฯ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) แนวทางการส่งเสริม การพัฒนาเมืองเทคโนโลยี 5จี อีกด้วย

สุดท้ายในส่วนของ สดช.นั้นก็จะมีการยกระดับการทำงานให้เป็นองค์กรไร้กระดาษ ตามนโยบายนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จัดเก็บเอกสารราชการให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล นำปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในการช่วยสืบค้นข้อมูลดิจิทัล ฯลฯ เพื่อต้นแบบให้กับ หน่วยงานราชการอื่นๆ ในอนาคตด้วย.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์