เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวผ่านไฟล์สดทางเพจเฟซบุ๊ก “กระทรวงสาธารณสุข” เรื่องประสิทธิผลของวัคซีนที่ได้จากการใช้จริงในประเทศไทย ว่า วัคซีนที่มีการใช้อยู่มีการพัฒนาและทดสอบระยะที่ 3 ต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมก่อนจะมีการรับรองให้นำมาใช้จริงในภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้เมื่อมีการนำมาฉีดในประเทศไทยซึ่งมี 2 ชนิดคือซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ทางคณะทำงานติดตามประสิทธิผลวัคซีนป้องกันโควิด-19 และคณะทำงานวิชาการประมวลผลการศึกษาวัคซีนที่ใช้จริง ก็ได้ทำการศึกษาจากการใช้จริงในสนามตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นส่วนใหญ่ และมีฉีดวัคซีนแอสตราฯ บ้าง ทั้งนี้ เพื่อดูประสิทธิผลในการป้องกันเชื้อ และการป้องกันความรุนแรง โดยศึกษาใน 1.ประชาชนกลุ่มที่สัมผัสเสี่ยงสูงจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อ ที่จังหวัดภูเก็ต สมุทรสาคร 2.ศึกษาในบุคลากรทางการแพทย์ที่จังหวัดเชียงราย และกรณีที่กรมควบคุมโรคศึกษาจากดึงฐานข้อมูลบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อตั้งแต่เดือน พ.ค. และ มิ.ย. 2564

นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ผลจากการศึกษาจากการใช้วัคซีนซิโนแวคจริงในพื้นที่ภูเก็ต โดยมีการติดตาม และตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1.5 พันราย พบติดเชื้อ 124 ราย เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของยู่ที่ 90.7% ส่วนการศึกษาที่สมุทรสาคร มีการศึกษาและตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 500 กว่าราย พบการติดเชื้อ 116 ราย เมื่อเปรียบเทียบคนฉีด 2 เข็ม กับไม่ได้ฉีดวัคซีน พบว่าประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 90.5% ทั้งนี้การศึกษาใน 2 จังหวัดดำเนินการเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) แทบทั้งหมด ดังนั้น ซิโนแวคในสนามจริงมีประสิทธิภาพดีพอสมควรอยู่ที่ 90% ซึ่งดีกว่าผลการศึกษาจริงในประเทศอื่น และดีกว่าผลการศึกษาก่อนมีการขึ้นทะเบียน เช่น การศึกษาที่บราซิล ตุรกี อยู่ที่ 50-70% ซึ่งตอนนั้นเป็นคนละสายพันธุ์กับประเทศไทย ดังนั้นสรุปว่าวัคซีนซิโนแวคจากการใช้จริงในไทยมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้ออัลฟาได้

สำหรับการศึกษาที่เชียงราย ในเดือน เม.ย. ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟา ในกลุ่มบุคลากรสุขภาพ โดยตรวจผู้มีความเสี่ยงสูงเกือบ 500 ราย พบติดเชื้อ 40 ราย ในจำนวน 40 ราย พบค่าประสิทธิภาพของวัคซีนเทียบคนได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ประสิทธิภาพอยู่ที่ 88.8% ประสิทธิผลในการป้องกันปอดอักเสบ 85% ตัวเลขทั้ง 2 ส่วนไม่ได้ต่างจากค่าการศึกษาในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในจังหวัดสมุทรสาคร และภูเก็ต ที่น่าสังเกตคือการศึกษาที่เชียงรายนั้นพบว่าบุคลากรได้รับวัคซีนแอสตราฯ 1 เข็ม ครบ 14 วัน จำนวน 50 ราย พบว่าประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 83.8% จึงถือเป็นเครื่องยืนยันว่า เมื่อเกิดการระบาดวัคซีนซิโนแวค หรือแม้แต่แอสตราฯ 1 เข็ม จะช่วยลดการติดเชื้อและลดการปอดอักเสบได้

ส่วนการศึกษาที่กรมควบคุมโรคนำข้อมูลจากฐานข้อมูลเฝ้าระวังการเจ็บป่วยเทียบกับฐานข้อมูลการฉีดวัคซีนของประเทศ ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นการระบาดของเชื้ออัลฟา ประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มอยู่ที่ 71% ส่วนเดือน มิ.ย. ซึ่งเริ่มมีการระบาดของเชื้อเดลตาประมาณ 20-40% พบว่าประสิทธิผลของวัคซีนอยู่ที่ 75% ถือว่าไม่ได้ลดลงไป ดังนั้นที่มีข้อวิตกกังวลว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลตาจะมีผลต่อวัคซีนโคโรนาแว็คจะมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากการใช้ในสนามจริง ประสิทธิผลยังคงที่ แม้ในภาพรวมการติดตามผลทางห้องปฏิบัติการ ที่ใช้เพื่อการสังเกตมีการลดการสร้าง Neutralizing antibody อยู่บ้าง

ดังนั้นโดยสรุปวัคซีนที่นำมาใช้ทุกตัวมีความปลอดภัยแน่นอน ส่วนเรื่องประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับเรื่องสายพันธุ์และภาวะความเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ และกรณีวัคซีนซิโนแวคได้ผลดีพอสมควร ป้องกันการติดเชื้อ 90% ป้องกันปอดอักเสบ 85% ประเด็นที่ 2 กรณีมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเราได้มีการติดตามต่อเนื่อง และมีการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงประสิทธิภาพของวัคซีนต่อสายพันธุ์นี้ และปรับวิธีฉีดวัคซีนล่วงหน้า เพราะผลทางห้องปฏิบัติการดูแล้วหากใช้วัคซีนเชื้อตายประสิทธิผลอาจจะได้ไม่สูงมากนัก แม้ว่าข้อมูลการใช้ในสนามจริงยังไม่บ่งบอก แต่เรายังต้องติดตามต่อไป ดังนั้นมาตรการหรือวิธีการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข และที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ในการใช้วัคซีนที่มีอยู่ทั้งซิโนแวค แอสตราฯ และตัวอื่นๆ ที่จะเข้ามา เพื่อเพิ่มประสิทธิผลวัคซีนให้ดีที่สุด ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนเชื้อตายยังได้ผลดีจากการใช้จริง อยากให้ประชาชน และบุคลากรเข้าใจ และไม่คาดหวังน้อย หรือคาดหวังเกินเลยจากสิ่งที่ดำเนินการอยู่ 

เมื่อถามว่าในช่วงที่สายพันธุ์เดลตาระบาด ดังนั้นซิโนแวคจำเป็นหรือไม่ นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ ซิโนแวคยังได้ผลอยู่ แต่เพื่อให้มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพสูงขึ้นในการเพิ่มภูมิคุ้มกันจึงมีการปรับการฉีดวัคซีน แทนที่จะฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ก็เปลี่ยนมาเป็นฉีดซิโนแวค และตามด้วยวัคซีนต่างชนิดกัน จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงกว่าเดิม จะสร้างความมั่นใจในการป้องกันมากขึ้น ที่เรายังต้องใช้ซิโนแวค เพราะเป็นวัคซีนที่จัดหาได้เร็ว ไม่ต้องรอคิวไปจนถึงปีหน้า หรือไตรมาส 4 ดังนั้นหากสามารถบริหารวัคซีนที่จัดหาได้ ซึ่งเรามีวัคซีนหลัก คือแอสตราฯ เดิมคาดว่าบริษัทจะส่งให้ได้ 10 ล้านโด๊สต่อเดือน แต่มีข้อจำกัด ทำให้ส่งได้เพียงแค่ 5 ล้านโด๊ส ดังนั้นซิโนแวคก็เป็นวัคซีนที่เราสามารถจัดหาได้ เอามาใช้ได้เลย อย่างไรก็ตาม อนาคตจะมีการปรับใช้วัคซีนชนิดอื่นหรือไม่ อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์สายพันธุ์และขึ้นกับแต่ละช่วงเวลา เราจะจัดหาวัคซีนชนิดใดได้เพิ่ม เพราะการจัดหาวัคซีนต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า และที่ดำเนินการอยู่คือ mRNA ของไฟเซอร์ ที่จะมาเสริมไตรมาส 4 หรือ หลัง ต.ค. เป็นต้นไป เพราฉะนั้นในช่วงการระบาด 2-3 เดือนนี้ ต้องใช้วัคซีนที่มีอยู่ขณะนี้ให้เป็นประโยชน์ คนที่ตั้งครรภ์ก็ฉีดได้ทุกชนิดวัคซีน ปลอดภัย แต่ไม่ควรรอ.