ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สื่อสร้างสรรค์ ประจำปี 2565 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 มกราคม 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 2 ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย นายแพทย์ สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานในพิธีเปิดฯ พร้อมด้วย นายปฏิพัทธ์ มะลิสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการศึกษา และเสริมสร้างโอกาสทางสังคม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด 19 อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สื่อสร้างสรรค์ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จำนวน 240 คน เข้าร่วม เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบูรณาการขับเคลื่อนกิจกรรมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้มีเวลาในการปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างกระบวนการ และเปิดพื้นที่กลางเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็ก ครู ผู้ปกครอง และภาคีเครือข่ายในชุมชน ส่งเสริมให้มีการใช้ทักษะภาษาไทยควบคู่ภาษาพื้นถิ่นในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ของเด็กในระดับที่สูงขึ้น พร้อมทั้งขยายผลให้มีการนำหลักการเรียนรู้ สังคมพหุวัฒนธรรมแก่เด็กก่อนวัยเรียน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมๆกันทั้งชุมชน

นายแพทย์ สมหมาย บุญเกลี้ยง กล่าวขณะพบปะผู้เข้าร่วมว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยทำให้เด็กเล็กได้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาด้านสมองและอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องกับการนำสื่อต่างๆ หรือนวัตกรรม รวมถึงการนำโซเซียล มาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์เหมาะสมกับวัย โดยใช้ภาษาไทยเป็นรูปแบบหลักในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาของกิจกรรม ผู้เข้าร่วมได้นำกระบวนการเรียนรู้โดยใช้เด็กเล็กเป็นศูนย์กลาง ของการพัฒนา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและชุมชนข้างเคียง เป็นพื้นที่กลางในการจัดกิจกรรม ดำเนินการนำ “หลักคิด 3 ดี” มาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ อาทิ สื่อดี หมายถึง สื่อที่มีเนื้อหาถูกต้องปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับเด็กเล็ก รวมถึงไปถึงการใช้ทักษะด้านภาษาไทยที่ถูกต้อง เหมาะสม กำหนดให้มีการใช้ภาษาพื้นถิ่น ควบคู่ไปกับการใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน พื้นที่ดี หมายถึง พื้นที่ที่ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สานสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การเตรียมตัว ให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก อีกทั้งยังได้มีการออกแบบสื่อสร้างสรรค์ เรียนรู้ตามบริบทของชุมชน นำวัสดุในท้องถิ่นมาจัดทำสื่อสำหรับเด็กเล็ก ใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ และการรื้อฟื้นการละเล่นเมื่อวาน สืบสานวิถีไทย วิถีถิ่น ที่กำลังจะสูญหายมาเป็นสื่อให้ กับเด็กได้เรียนรู้ โดยได้รับเกียรติจากคณะวิทยากร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาถ่ายทอด และแลกเปลี่ยน เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอย่างมีประสิทธิต่อไป