ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อว. ได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การติดเชื้อและการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างใกล้ชิดและใช้ข้อมูลทางวิชาการในการร่วมบริหารสถานการณ์ สำหรับประเด็นเรื่องวัคซีนนั้น ขณะนี้ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยประเทศขนาดใหญ่ในกลุ่มอาเซียนที่มีประชากรมากกว่า 50 ล้านคน ซึ่งได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และเมียนมา นั้น ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้สูงที่สุดตามสัดส่วนประชากร โดยมีคนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วถึง 16.3% ของประชากร ตามด้วยอินโดนีเซีย 15.1% ฟิลิปปินส์ 9.1% เวียดนาม 4.1% และเมียนมา ประมาณ 3.1% สำหรับในประเทศขนาดเล็กในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีประชากรน้อยกว่า 50 ล้านคน ซึ่งได้แก่ มาเลเซีย กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ และบรูไน นั้น จะมีร้อยละการฉีดวัคซีนต่อประชากรค่อนข้างสูง คือ สิงคโปร์ มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 4,118,334 คน หรือ 69.9% ของประชากร กัมพูชา 5,767,616 คน หรือ34.1% มาเลเซีย 9,570,974 คน หรือ 29.3% บรูไน 106,556 คน หรือ 24.2% และลาว 1,050,818 คน หรือ 14.3% ตามลำดับ

ด้าน ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดอว.กล่าวว่า การใช้วัคซีนของประเทศไทยนั้นใช้วัคซีนซิโนแวคมากที่สุด จำนวน 7,522,418 โด๊ส โดยเป็นเข็มแรก 4,187,943 หรือ 29.5% ของจำนวนที่ฉีด และเข็มที่สอง จำนวน 3,334,475 โด๊ส หรือ 23.4% ตามด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 6,288,541 โด๊ส โดยเป็นเข็มแรกจำนวน 6,180,413 โด๊ส หรือ 43.4% และเข็มที่สอง จำนวน 108,128 โด๊ส หรือ 0.8% และวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 412,803 โด๊ส โดยเป็นเข็มแรกจำนวน 412,076 โด๊ส หรือ 2.9% และเข็มที่สอง จำนวน 727 โด๊ส หรือ 0.005% ทั้งนี้ขอยืนยันว่าการใช้วัคซีนซิโนแวคซึ่งฉีดในประชากรจำนวนมากโดยเฉพะในกลุ่มความเสี่ยงสูงนั้นได้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยในระยะเริ่มต้นที่จีนได้ส่งมอบวัคซีนซิโนแวคมาตั้งแต่เดือนก.พ.2564 ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดแรกที่ได้รับและนำมาใช้ในการควบคุมสถานการณ์นั้น จากการติดตามผลการใช้งานจริงในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าวัคซีนนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อโดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาการรุนแรงได้ผลดี โดยการติดตามการใช้งานที่ จ.ภูเก็ต พบว่ามีประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 90.7% การศึกษาที่ จ.เชียงราย มีประสิทธิผล 82.8% และการศึกษาที่ จ.สมุทรสาคร มีประสิทธิผล 90.5% และล่าสุดในการรายงานการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาพรวมของทั้งประเทศเกือบ 700,000 คนนั้น พบว่าในกลุ่มบุคลากรความเสี่ยงสูงซึ่งมีการติดเชื้อ 880 คน และเสียชีวิต 7 รายนั้น พบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบสองเข็มแล้วมีอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมาก แสดงว่าวัคซีนซิโนแวคสามารถป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงได้