ดร.วิภารัตน์ ดีอ่องผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า กว่า 2 ปีที่สังคมไทยต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มีส่วนร่วมในการคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นระลอกๆโดยระยะที่ 1 ช่วงแรกของการระบาด ได้สนับสนุนทุนวิจัยในประเด็นศึกษาตัวเชื้อและลักษณะพันธุกรรมของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อเข้าใจการแพร่กระจายของเชื้อ การพัฒนายาและวัคซีน จากนั้นระยะที่ 2 ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นหรือช่วงวิกฤติ ได้สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ทดแทนทางการแพทย์ให้มีเพียงพอสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ 

ระยะที่ 3 ช่วงผ่อนปรนมาตรการ ได้เร่งพัฒนาวัคซีนโดยเฉพาะในระยะการทดสอบในสัตว์ทดลอง การทดสอบในมนุษย์ หรือการเตรียมการด้านเทคโนโลยีเพื่อผลิตวัคซีนโรคโควิด-19 และระยะที่ 4 ช่วงระบาดระลอกใหม่ ได้สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นการถอดรหัสพันธุกรรม และระบาดวิทยาของเชื้อที่มีการกลายพันธุ์จากเดลตาเป็นโอมิครอนและมีแนวโน้ม ที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น มีผลที่เป็นรูปธรรมและถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ เพื่อคลี่คลายและแก้วิกฤติโควิด-19 ให้กับประเทศจำนวนมาก อาทิ แผนการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ได้แก่การถอดรหัสพันธุกรรม และระบาดวิทยา การศึกษาวิเคราะห์ลักษณะทางพันธุกรรม และพัฒนาการตรวจวินิจฉัยจำแนกเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยมี ศ.ดร.ยง ภู่วรวรรณ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ, หน้ากาก Silicone mask N99 (VJR-NMU mask N99) โดยมี ผศ.อนุแสง จิตสมเกษม แห่งมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นหัวหน้าโครงการ, หน้ากากอนามัยชนิด N95 หรือ KN95 โดยมี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เป็นเจ้าของโครงการ, ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPR) โดยมี นพ.เข็มชาติ หวังทวีทรัพย์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ, ห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่ โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นหัวหน้าโครงการ, การศึกษาความปลอดภัยและ ผลกระตุ้นภูมิต้านทานของวัคซีนโควิด-19 ชนิดต่างๆ และวิธีการฉีดแบบสลับต่างชนิดกันในประชากรไทย เป็นต้น

“ล่าสุด วช.ได้รวบรวมนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ กว่า 20 คนมาทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยลดผลกระทบจากโควิด-19 มุ่งเน้นผลงานเชิงสุขภาพให้หลากหลาย อาทิ ผลงานการพัฒนาระบบจัด การให้บริการสาธารณสุขด้วยหุ่นยนต์เคลื่อนที่บังคับระยะไกลภายใต้สถานการณ์โรคติดต่อร้ายแรง ของ ดร.ปาษาณกุลวานิช จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ที่ผลิตหุ่นยนต์ชื่อ ”ปิ่นโต 2” ทำหน้าที่ส่งยาและเวชภัณฑ์ภายในรพ.และ รพ.สนาม ที่สำคัญยังสามารถใช้สื่อสารระหว่างแพทย์และคนไข้ได้ โดยจะผลิตและส่งมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ, ผลงานเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลสำหรับถ่ายปอดผู้ป่วยโควิด-19 ของ ดร.อุดมชัย เตชะวิภูจาก สวทช. ที่จะผลิตและติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล บอดีเรย์ เอส และบอดีเรย์อาร์ให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นในการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น คัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อและติด ตามผลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อให้ได้ภาพเอกซเรย์ดิจิทัลที่มีคุณภาพอย่างรวดเร็ว สามารถถ่ายผู้ป่วยได้จำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น เพื่อลดการสัมผัสและลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์, ผลงานการพัฒนาและขยายผลงานนวัตกรรม “Magik Tuch” สำหรับแปลงระบบลิฟต์ทั่วไปให้เป็นลิฟต์แบบไร้สัมผ้สเพื่อบรรเทาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการใช้ลิฟต์ในที่สาธารณะที่มีประชาชนใช้งานจำนวนมาก” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงผลงานที่กำลังดำเนินงาน

นอกจากนี้ ยังมีผลงานการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิดเข็มที่ 3 ในบุคลากรทางการแพทย์ ของ นพ.วิศิษฏ์ ประสิทธิศิริกุล จากสถาบันบำราศนราดูร, ผลงานการเฝ้าระวังโรคติดต่อและโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงเชิงโมเลกุล ของ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาข้อมูลด้าน Genomics ของเชื้อโรคที่เคยพบในต่างถิ่นและโรคใหม่ๆ จากสัตว์ สัตว์ป่า แมลงและพาหะ ที่อาจแพร่เชื้อก่อโรคในคนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่, ผลงานการพัฒนาการผลิตชีวเภสัชภัณฑ์จากพืชเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโรคอุบัติใหม่ในประเทศ ไทยโดยใช้วัคซีนสำหรับไวรัส SARS – CoV – 2 สายพันธ์ุอังกฤษและแอฟริกาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบของ รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมไปถึงผลงานที่เกี่ยวกับเด็กอย่างการเฝ้าระวังภาวะประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัยและการแทรกแซงเพื่อฟื้นฟูสุขภาวะเด็กและครอบครัวในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 ของ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น ส่วนผลงานของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ กว่า 20 คนนี้ จะถูกใช้เป็นชุดข้อมูลเพื่อให้สามารถใช้ในการบริหารสถานการณ์ทั้งในมิติทางวิชาการและเรื่องของการบริหารในระดับนโยบาย ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤติและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน ที่สำคัญจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหลายมิติ ได้แก่ เชิงวิชาการ เชิงนโยบาย เชิงชุมชน/สังคม และเชิงพาณิชย์ด้วย.