วันนี้ (24 ม.ค.) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบ ในหลักการสนับสนุนการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารที่ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 64 ตามแนวทางที่สำนักงาน กสทช. เสนอ โดย กสทช. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนในการจัดระเบียบ สายสื่อสาร กลุ่มเร่งด่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 65-66 โดยใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

ส่วนที่นอกเหนือจากเส้นทางกลุ่มเร่งด่วน กสทช. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน โดยให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม นำมาหักลดหย่อนจากรายได้ฯ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากภารกิจ ด้านโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะมาหักลดหย่อนจากรายได้ที่ต้องจัดสรรเพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า การจัดระเบียบสายสื่อสารจะเร่งดำเนินการตามแผนจัดระเบียบสายสื่อสาร 3 ปี ด้วยความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงาน กสทช. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยปี 65 นี้ จะเริ่มดำเนินการในกลุ่มเร่งด่วน พื้นที่กทม.ระยะทางประมาณ 400 กม. และพื้นที่ต่างจังหวัด ระยะทางประมาณ 2,000 กม. ก่อน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ ตั้งแต่ประมาณกลางเดือน ก.พ. เป็นต้นไป โดยในระหว่างการดำเนินการ จัดระเบียบสายสื่อสารประชาชน ผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นอาจจะได้รับความไม่สะดวกบ้าง แต่ในอนาคต หลังจากดำเนินการเสร็จ บ้านเมืองจะเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความปลอดภัยในการสัญจรไปมา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

“ในส่วนของงบประมาณในการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ ที่ผ่านมาจากการประชุมหารือร่วมกันระหว่างสำนักงาน กสทช. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เห็นชอบร่วมกันที่แต่ละหน่วยงานดำเนินการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่าย ตามภารกิจหน้าที่ โดย การไฟฟ้านครหลวงรับผิดชอบในเรื่องค่าอุปกรณ์แขวนสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รับผิดชอบในเรื่องค่าอุปกรณ์แขวนสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ในพื้นที่ต่างจังหวัด กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบในเรื่องการจัดหาพื้นที่ในการพักสายสื่อสารที่รอการกำจัดซาก และการอำนวยความสะดวกในการจัดระเบียบสายสื่อสาร ส่วนสำนักงาน กสทช. รับผิดชอบเรื่องค่ารื้อถอนสายสื่อสาร และค่ากำจัดซากสายสื่อสาร” นายไตรรัตน์ กล่าว