พระครูพิสุทธิรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเถรพลาย ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า วัดเถรพลาย เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานคือ เจดีย์ยุคโบราณก่อด้วยอิฐ ยอดเจดีย์เป็นเนื้อสำริดเก่าแก่ มีลักษณะดอกบัวหงาย 7 ชั้น สันนิษฐานตั้งชื่อวัดตามประวัติที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีที่ดอนเจดีย์ แล้วขุนศึกผู้ใหญ่แวะพักรบเพื่อให้ทหารและช้างพลายได้พัก ก่อนที่จะเดินทางไปบ้านหนองสาหร่าย จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อวัดเถรพลาย ซึ่งมีความหมายว่า ช้างของขุนศึกผู้ใหญ่ และก่อนที่จะเดินทางออกรบเพื่อกระทำยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้สร้าง “พระขุนแผน” ขึ้น เพื่อมอบเป็นขวัญและกำลังใจแก่ทหาร และส่วนหนึ่งนำบรรจุกรุไว้ที่เจดีย์วัดเถรพลาย

ต่อมาเมื่อ 2562 ทางวัดได้ทำพิธีบวงสรวงเจดีย์ หลังจาก ได้ให้ช่างมาทำการซ่อมแซมขุดทำท่อระบายน้ำตรงเจดีย์เก่าแก่ เนื่องจากช่วงฤดูฝน เมื่อมีฝนตกลงมาและน้ำได้ขังจนทำให้เจดีย์เกิดการทรุดตัว แต่เมื่อขุดลงไปในความลึกประมาณ 50 ซม. พบไหโบราณ 2 ไห อยู่บริเวณมุมฐานเจดีย์ ภายในพบพระเครื่องเนื้อดินเผา พิมพ์ขุนแผน หลายพิมพ์ เช่น พิมพ์ทรงพลใหญ่ ทรงพลเล็ก พลายเดี่ยว พลายคู่ 197 องค์ ทางวัดได้นำมาเก็บไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาส และเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ ก่อนหน้าที่จะพบพระเครื่อง ได้มีพระธุดงค์มาขอจำวัด 1 คืน ได้มานั่งสวดมนต์ที่หน้าองค์เจดีย์ และบอกกับพระลูกวัดว่าจะทำพิธีเปิดกรุสมบัติให้ทางวัดเพื่อนำมาบูรณะวัด จนกระทั่งเช้ามืดพระธุดงค์ดังกล่าวได้ออกจากวัดไปโดยมิได้บอกกล่าวใคร

ทั้งนี้ในวันที่ 13 ก.พ.65 ทางวัดขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพเททองหล่อสมเด็จพระนเรศวรมหราช ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพของไทย และนำประดิษฐานไว้หน้าเจดีย์โบราณ เพื่อประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระนเรศวรมหราช และให้ประชาชนได้สักการะบูชา ร่วมทำบุญผ่านบัญชี ธ.กรุงไทย 980-757-2827