เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่โรงแรมโรงแรมเซาท์เทิร์นวิว จังหวัดปัตตานี สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดพิธีรำลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้ ครั้งที่ 12 เพื่อเชิดชูเกียรติแด่ครู 183 คนที่เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบ โดยน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ทําให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ มีความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม บ้างได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต มีความทุกข์ยากในการประกอบอาชีพและการดําเนินวิถีชีวิตประจําวัน โดยเฉพาะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้เป็นปูชนียบุคคลที่ต้องปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ด้วยความเสียสละ เพียรพยายาม อดทนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเด็ก เยาวชน และพัฒนาการศึกษาของชาติให้ก้าวไกล จากคำพูดที่ได้กล่าวไปนั้น เป็นการสดุดีและแสดงความคารวะต่อคุณความดีของครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่เสียชีวิตทั้ง 183 ท่าน ตลอดระยะเวลากว่า 18 ปีที่ผ่านมา รวมถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพอีกจำนวนหนึ่ง ที่ได้อุทิศตนเสียสละเอาความลำบากยากเข็ญ แม้กระทั่งชีวิตเข้าแลกไว้ เพื่อทำให้การศึกษายังดำรงคงอยู่เป็นคุณค่า สร้างคุณประโยชน์ต่อเด็กนักเรียน นักศึกษา เยาวชน ตลอดจนประชาชนทุกคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จะค่อย ๆ ทุเลาลงไปบ้างแล้ว แต่ยังมีอยู่สิ่งหนึ่งที่พี่น้องชาวจังหวัดชายแดนใต้ ตลอดจนทุกภูมิภาคทั่วประเทศต้องประสบพบเจอไม่ต่างกัน คือเรื่องของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมาได้มีการมอบนโยบาย โดยจัดให้มีการเรียนการสอนทั้ง 5 รูปแบบที่คงคุ้นเคยกันดีแล้ว อีกทั้งการฉีดวัคซีนครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนวัคซีนนักเรียน สำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ซึ่งล่าสุดทางศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค.ชุดเล็ก ได้เห็นชอบในหลักการให้มีการขยายช่วงอายุของเด็กที่จะได้รับวัคซีน ลงมาเป็นระหว่างอายุ 5-11 ปีแล้ว คาดว่าภายในสิ้นเดือนมกราคมจะพร้อมฉีดเข็มแรก รวมถึงมาตรการ 6-6-7 เช่น การสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยครั้งมากขึ้น และแผนเผชิญเหตุ สำหรับสถานศึกษากรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานศึกษา

“เชื่อมั่นว่านโยบายที่ออกมาเพียงพอต่อการรับมือสถานการณ์โควิดที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ขอเพียงแค่ไม่ตื่นตระหนก และอยู่ร่วมกับมันให้ได้ เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่าโลกจะไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิมแบบที่เคยเป็นมาก่อน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเข้าใจถึงความผันผวน ตลอดจนปรับตัวให้มีทักษะที่จะสามารถอยู่รอดท่ามกลางกระแสของการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ฝากไปยังเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสถานการณ์ในเวลานี้ คือทำอย่างไรให้ผู้เรียนไม่พลาดโอกาสที่จะเรียนรู้ ครูต้องเปลี่ยนจาก “ผู้สอน” มาเป็น “ผู้อำนวยการเรียนรู้” ที่จะคอยจุดประกาย และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ เกิดการเรียนรู้ ได้ทุกที่ ทุกเวลา สร้างให้ชุมชนและสังคมของเขา เป็น “ห้องเรียนชีวิต” เพื่อที่จะได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม เป็นทรัพยกรบุคคลที่มีศักยภาพสามารถนำพาประเทศเข้าสู่การแข่งขันได้” รมว.ศธ.กล่าวและว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดปัตตานี และพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อื่น ๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของชุมชนสังคม ที่มีความพิเศษ และโดดเด่นกว่าหลายภูมิภาคในประเทศไทย เชื่อว่าจะมีสิ่งดี ๆ สิ่งที่น่าเรียนรู้ ให้แก่เด็กและเยาวชนได้เข้ามาเก็บเกี่ยว เรียนรู้ และซึมซับวัฒนธรรมของที่นี่อีกมากมาย