ของมันจำเป็นต้องมี วลีนี้คือ “รูรั่วชีวิต”  

แท้จริงแล้ว บางเรื่องไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ แต่เมื่อเห็นคนอื่นมีเราจึงจำเป็นต้องมี เช่น เมื่อเพื่อนที่ทำงานซื้อกระเป๋าใบใหม่ กระเป๋าเราจะดูเก่าไปทันที ทั้งที่ยังผ่อนไม่หมด 

พระท่านสอนว่า ความสุขคนทำงานมี 4 ประการ คือ 1.สุขเพราะมีทรัพย์ 2.สุขเพราะได้ใช่จ่ายทรัพย์ 3.สุขเพราะทำงานไม่มีโทษ 4.สุขเพราะไม่เป็นหนี้ 

สูตรปรุงความสุขในชีวิตตามแนวทางพระพุทธศาสนา คือ   

1.อัตถายะ ความสุขของคน เกิดขึ้นจากประโยชน์ คือ ประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์ส่วนรวม การขยันทำมาหากินเป็นประโยชน์ การสร้างครอบครัวด้วยความซื่อสัตย์สุจริตก็เป็นประโยชน์  

2. หิตายะ เกื้อกูลช่วยเหลือกันให้เกิดความรุ่งเรือง เป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้  

3. สุขายะ ร่มเย็นจากภายใน วุฒิการศึกษาพัฒนาเท่าเทียมกันได้ แต่วุฒิภาวะเป็นเรื่องข้างใน อยู่ที่ความเข้าใจกันและกัน  

ส่วนเรื่องที่จำเป็นต้องมี คือ “การมีเป้าหมายชีวิต” ความสุข ความทุกข์ จะคลี่คลาย เบาบางลงได้ เพราะชีวิตมีเป้าหมาย เช่น เมื่อเป็นหนี้ เรามีเป้าหมายว่าจะปลดหนี้ ชีวิตก็เบาบางลง 

โดยเฉพาะในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ยุคโควิดรุกแพร่กระจายไปทั่วโลก คนที่ไม่มีเป้าหมายคือคนที่เป็นทุกข์ สุดท้ายแล้ว โลกและสังคมจะจัดการคนประเภทนี้ไปเอง หลายองค์กร กำลังรีดไขมันองค์กร หมายความว่า ตัดส่วนที่เกินจำเป็นออกไป 

ราคาหมูจะแพง เศรษฐกิจจะแย่ ลองใช้หลักใจคนสู้งานดังโบราณสอนไว้ว่า “มีมือมีตีน ใช้มันให้แหลก มีผัวมีเมีย ตีหัวให้แตก แขกมาอย่าไปรับแขก”  

1.“มีมือมีตีน ใช้มันให้แหลก” หมายถึง อยู่ในวัยทำงานต้องรู้จักทำงาน สร้างตน ไม่งอมืองอเท้า ไม่มีงานทำ ไม่มีเงินใช้ ไม่มีคู่ ยังไม่น่าห่วงเท่ากับคนไม่มีเป้าหมายชีวิต 

2.“มีผัวมีเมีย ตีหัวให้แตก” หมายถึง เมื่อมีครอบครัวแล้วต้องคิดให้มาก คิดให้รอบคอบ ดังที่พระท่านสอนว่า “บวชให้รีบสึก แต่งให้รีบเลิก” คือ บวชใหม่ให้รีบศึกษาธรรมะ แต่งงานให้รีบเลิกสิ่งไม่ดีในชีวิต 

3.“แขกมาอย่าไปรับแขก” หมายถึง เรื่องบางเรื่องปะทะไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยผ่านไป ไม่จำเป็นต้องใส่ใจไปทุกอย่าง  

ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งต้องรู้ว่า ครึ่งหลังของชีวิต (40 ปี) ผ่านแล้ว ควรมีชีวิตที่ “อยู่เย็น เป็นสุข” สิ่งใดควรปล่อยผ่าน เรื่องไหนไม่ควรใส่ใจ สิ่งใดควรแก้ไขปรับปรุง 

หมูจะแพง ค่าแรงจะต่ำ โควิดจะหวนกลับมาใหม่ “ระวังใจกันด้วยนะโยม” 

……………………………………………..

คอลัมน์ : ลานธรรม

โดย : พระสุธีวชิรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี