ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รอง ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานค้นหาลายผ้าประจำ จ.ประจวบฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา ในวันที่ 12 ส.ค.65 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์จากผ้าในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ เข้าร่วมประชุม

โดยในที่ประชุมลงมติเห็นชอบใช้ “ผ้ายกดอกลายเต่า” ของกลุ่มสตรีทอผ้าหมู่บ้านเขาเต่า อ.หัวหิน เป็นลายผ้าไทยประจำ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากกลุ่มสตรีทอผ้าหมู่บ้านเขาเต่า เป็นกลุ่มที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานและน่าสนใจ รวมทั้งมีการพัฒนาลายผ้ามาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP และ CPOT (สินค้าทางวัฒนธรรมไทย Cutural Product Of Thailand) ของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากนี้ทางคณะทำงานจะจัดทำข้อมูลประกอบลายผ้า เสนอยัง ผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์ เห็นชอบเพื่อนำเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดกิจกรรม “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล”

น.ส.ธัญรดา พลายชมภู ผู้ดูแลโครงการผลิตผ้าไทย ศูนย์หัตถกรรมทอผ้าบ้านเขาเต่า อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ หมู่บ้านเขาเต่า อ.หัวหิน เปิดเผยว่า รู้ภูมิใจและดีใจที่ทางจังหวัดเลือก “ผ้ายกดอกลายเต่า” ของหมู่บ้านเขาเต่าเป็นลายผ้าไทยประจำ จ.ประจวบฯ ผ้ายกดอกลายเต่าเป็นผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนเขาเต่า ลักษณะของลายยกคอกเป็นลายหลังเต่าเพราะด้วยชื่อของชุมชนคือชุมชนเขาเต่า ซึ่งเป็นชุมชนที่ติดทะเลและมีอาชีพประมงเป็นหลัก ดั้งเดิมชุมชนนี้จะมีเต่ามาอาศัยเป็นจำนวนมาก เราจึงใช้ลักษณะของกระดองเต่านี้เป็นเอกลักษณ์ของผ้ายกดอกลายเต่า เป็นการทอด้วยกี่กระตุกแบบคันยก 4 ตะกรอ 6 ขาเหยียบ และผสมผสานเทคนิคของการทอผ้าและความชำนาญการทอของช่างทอผ้ากับการใช้เส้นฝ้ายที่เป็นฝ้าย 100 เปอร์เซ็นต์

หลักการผสมสีที่มีเส้นฝ้ายด้านยืนและเส้นฝ้ายด้านพุ่งคนละสีกัน จึงทำให้เกิดความสวยงามของผ้า ขนาดหน้าผ้ากว้าง 40 นิ้ว ความยาว 2-4 เมตร/ชิ้น โดยสีสันของผ้าเราสามารถปรับตามความนิยมของยุคสมัยปัจจุบันและสามารถเปลี่ยนตามสีที่ใช้ในงานวาระสำคัญได้ และเอกลักษณ์ของผ้ายกดอกลายเต่ายังสื่อให้เห็นถึงเป็นสิริมงคลเป็นตัวแทนในการมอบให้ผู้ใหญ่ แทนคำอวยพรให้กับบุคคลที่เราเคารพรัก เพื่อให้บุคคลนั้นได้มีอายุยืนมีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งในที่ประชุมได้เลือกสีฟ้า ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ สมเด็จพระพันปีหลวง โดยทางจังหวัดได้เน้นลายดอกให้เด่นขึ้นเพื่อตัดเป็นชุดให้นางแบบได้ใส่ในกิจกรรม “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล”

สำหรับผ้าทอเขาเต่าผลิตมาจากฝีมือกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพเสริมจากการทอผ้าฝ้ายด้วยกี่กระตุก เพราะช่วงมรสุมที่มีคลื่นลมแรงนั้น ชาวประมงในหมู่บ้านที่มีอาชีพประมงเรือเล็กไม่สามารถออกหาปลา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงชักชวนให้หญิงชาวบ้านหัดทอผ้าฝ้ายเพื่อเป็นอาชีพเสริม จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดหาครูจากราชบุรีมาสอนทอผ้า ย้อมสี ออกแบบลายผ้า การตัดเย็บ พร้อมจัดหาอุปกรณ์ทอผ้าแลเครื่องใช้ต่างๆรวมถึงสอนการจักสานจากป่านศรนารายณ์ อาศัยใต้ถุนศาลาวัดเขาเต่าในการฝึกทอนับตั้งแต่ พ.ศ.2508 ลูกหลานชาวประมงบ้านเขาเต่าจึงได้เริ่มต้นอาชีพทอผ้า ที่สำคัญโครงการนี้ยังเป็นพระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมให้แก่ราษฎรแห่งแรกที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงริเริ่มขึ้น

ปัจจุบันศูนย์ฝึกหัตถกรรมทอผ้าบ้านเขาเต่า มีผลงานออกมานับร้อยชนิดทั้งผ้าฝ้ายยกดอก ผ้าถุง ผ้าขาวม้า และสินค้าต่างๆ ที่ทอขึ้นจากผ้าฝ้าย เกือบทุกรายการได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ บางรายการเป็นสินค้าระดับ 5 ดาวของประเทศ พร้อมทั้งกลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าทอคุณภาพกันอย่างต่อเนื่อง