นายชาญวุฒิ อำนวยสิน  ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า ในปี 65  ได้นำเสนอแผนการดำเนินการ ให้กับคณะกรรมการฯ เพื่อเชิญชวนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพเข้ามาขอทุนมากขึ้น โดยในข้อกฎหมายสามารถให้ได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีผู้ยื่นเข้ามาขอทุน ซึ่งล่าสุด กทปส. ได้ร่วมกับ เอสเอ็มอี แบงก์ ในการกำหนดหลักเกณฑ์ ร่วมกับ สมาพันธ์เอสเอ็มอี  และ สมาคม สตาร์ทอัพ รวมถึง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการคัดเลือก ทั้งการกำหนดขั้นตอน คุณสมบัติ วิธีการ และขั้นตอนการให้ทุน เพื่อให้เกิดความรอบคอบและรัดกุมตามวัตถุประสงค์  คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน ก.พ.นี้

“กทปส.อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการให้ทุนกับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพโดยจะให้จัดสรรทุนตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากหน่วยงานอื่น เพราะกทปส. มีข้อกฎหมาย เช่น ให้ในเรื่องของ 1.การสนับสนุนบริการเข้าถึงโทรคมนาคม กระจายเสียงและโทรทัศน์ 2. ด้านการวิจัยและพัฒนา  และ 3. ด้านการพัฒนาคน ตามกิจการโทรคมนาคม กระจายเสียง และโทรทัศน์  ซึ่งวัตถุประสงค์ในการให้ทุนนั้นจะแตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆ”

นายชาญวุฒิ กล่าวต่อว่า  ได้วางเป้าหมายในการดำเนินโครงการโดยจะเปิดรับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพประมาณ 80 ราย เข้าโครงการบ่มเพาะและคัดเหลือประมาณ 30 รายที่ได้ทุนไปพัฒนาตามเงื่อนไข ส่วนรายที่ไม่ได้รับการคัดเลือก จะได้นำความรู้ในการบ่มเพาะไปใช้ได้ ซึ่ง กทปส. จะทำโครงการ แอคเซลเลอเรท อคาเดมี่ ขึ้นมาใหม่ โดยมี เอสเอ็มอี แบงก์ เข้ามาร่วมดำเนินการ นอกจากนี้ในเรื่องหลักเกณฑ์เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ทาง กทปส. กำลังจะปรับหลักเกณฑ์ ผ่าน พ.ร.บ. ใหม่ ที่กำลังนำเสนอกับกรรมการบริหารกองทุนว่าจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนไปเรื่องของการเป็นเจ้าของ ที่เอกชนจะได้ไป คาดว่า เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาจะมีทิศทางที่ดีขึ้นตาม พ.ร.บ. ใหม่ที่ออกมา และน่าจะเริ่มใช้ ในไตรมาสที่ 2 ปี 65

“ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพจะไม่ได้เข้ามาขอทุน เนื่องจากกังวลเรื่องปัญหาลิขสิทธิ์  อีกเหตุผลหนึ่งคือ หน่วยงานของ กทปส. อาจจะยังไม่ได้รู้จักในวงกว้าง ซึ่งจะมีเพียงมหาวิทยาลัย มูลนิธิและสมาคม หน่วยงานราชการ ที่ทราบ แต่บริษัทภาคเอกชนอาจจะยังไม่ทราบว่า กทปส. มีการเปิดให้ทุนจึงขอเชิญชวนให้เข้ามาขอทุนกันมากๆ”

สำหรับแนวทางแผนการให้ทุนในปี 65 นี้ได้กำหนดกรอบวงเงินให้ทุนแตกต่างจากปี 64 คือ ทุนประเภทที่ 1 กทปส. ไม่กำหนดกรอบวงเงิน เนื่องจากว่าหน่วยงานมีแผนแม่บทปี พ.ศ. 2563-2566 เมื่อถึงครึ่งทาง จะต้องมีการทบทวนแผนก่อน  สำหรับทุนประเภทที่ 2 กำหนดไว้ที่ 720 ล้านบาท แบ่งเหมือนเดิมคือ ด้านธุรกิจคมนาคมกระจายเสียง ด้านการบริหารความถี่ และการตกลงของหน่วยงานภาครัฐ  ซึ่งในปี 65 ได้เพิ่มด้านการตกลงของหน่วยงานภาครัฐเป็น 200 ล้านบาท และในส่วนของภารกิจด้านโทรคมนาคม ภารกิจด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์ อย่างละ 150 ล้านบาท และมีทุนต่อเนื่องอีก 30 ล้านบาท

 ส่วนทุนประเภทที่ 3 ยังไม่กำหนดกรอบวงเงินเอาไว้ เพราะเป็นพื้นที่เกิดจากสถานการณ์เร่งด่วน เช่น จากโควิด-19 ซึ่งปีที่แล้วก็มีการอนุมัติเงินไป 642 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการให้ตามวัตถุประสงค์ เช่นการทำห้องความดันลบ การติดตั้งอุปกรณ์ IoT เพื่อช่วยสถานการณ์โควิด-19  ส่วนทุนประเภทที่ 4 จะให้ไปที่กองทุนสื่อ มีงบประมาณปีละ 500 ล้านบาท ซึ่งแต่ละสื่อก็มีวิธีการบริหารจัดการของตัวเอง

“การขอทุนกับ กทปส. ผู้รับทุนจะต้องแจงรายละเอียดเป็นรายโครงการว่าต้องใช้จำนวนเงินเท่าไร ใช้เงินไปเท่าไร เหลือเงินเท่าไร ซึ่งข้อกำหนดของกองทุนคือถ้ามีเงินเหลือจะต้องส่งคืนทางของทุน ไม่ได้หมายความว่าให้เงินไปแล้วใช้ไม่หมดแล้วไม่ต้องคืน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะมีผู้สอบเข้ามารับรองรายการ และเซ็นรับรองการใช้เงินทั้งหมด ทั้งนี้การให้เงินของเราไปนั้นไม่ได้เป็นการถือหุ้น แต่เป็นการให้เปล่า” นายชาญวุฒิ กล่าว