สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ว่าจีนเผยแพร่ผลการศึกษาเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พัฒนาโดยบริษัทฉงชิ่ง จื้อเฟย โดยใช้เทคโนโลยีเชื้อไวรัสเป็นพาหะ ( Recombinant viral vector vaccine ) และต้องฉีด 3 โด๊ส ปรากฏว่าเมื่อนำเซรั่มของอาสาสมัครซึ่งรับวัคซีนครบแล้ว มาทำปฏิกิริยากับอนุภาคเลียนแบบเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ "เดลตา" ปรากฏว่า ตอบสนองได้ดีกว่า "ประมาณ 1.2 เท่า" เมื่อเทียบกับอนุภาคเลียนแบบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ดั้งเดิม
อย่างไรก็ตาม การวิจัยครั้งนี้ยังต้องมีการขยายผลอีกมาก เนื่องจากอาศัยกลุ่มตัวอย่างเพียง 28 คน และผลการศึกษาทางคลินิกระยะที่สาม ซึ่งใช้อาสาสมัครกลุ่มใหญ่กว่านี้มาก ยังไม่เผยแพร่อย่างเป็นทางการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วัคซีนต้านโควิด-19 ของฉงชิ่ง จื้อเฟย เป็นหนึ่งในวัคซีนซึ่งหน่วยงานในจีนกำลังใช้ศึกษาแนวโน้มของการฉีดกระตุ้นเข็มที่สาม หรือ "บูสเตอร์" โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งมณฑลเจียงซูกำลังทดสอบทางคลินิก เกี่ยวกับการใช้วัคซีนของแคนซิโน ซึ่งเป็นแบบไวรัล เวกเตอร์ และฉีดเข็มเดียว ร่วมกับวัคซีนของฉงชิ่ง จื้อเฟย.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES