ณ เวลานี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ กสทช. ชุดใหม่ เข้ามาเดินหน้า “สานต่อ” การทำงานขับเคลื่อนภารกิจในด้าน โทรคมนาคมของประเทศชาติแล้ว!!

หลังจาก ที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.64  ที่ผ่านมามีมติให้ความเห็นชอบโหวตเลือก กสทช. ทั้งหมด 5 คน จากรายชื่อ 7 คนที่ถูกเสนอชื่อ ประกอบด้วย 1.พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ด้านกิจการกระจายเสียง 2.ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ด้านกิจการโทรทัศน์ 3.ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ 

4.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ 5.รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ด้านเศรษฐศาสตร์)      

ส่วน นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ ด้านกิจการโทรคมนาคม และ ร.ท.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ ด้านอื่น ๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ด้านกฎหมาย) ได้รับความเห็นชอบน้อยว่า 124 คะแนน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งจึงไม่ได้รับความเห็นชอบเป็น กสทช.

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต

รอบแรกได้ก่อน 5 คน

แม้ว่าประเทศไทยได้ กสทช. ชุดใหม่เพียง 5 คน จาก 7 คน ก็ตาม แต่กฎหมายสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุและกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 ระบุว่า สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  

ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์

โดยหากมีการฟ้องคดีเกี่ยวกับการสรรหา กสทช.ต่อศาลปกครอง การฟ้องคดีดังกล่าวก็จะไม่เป็นเหตุให้ระงับ หรือชะลอการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการสรรหาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เว้นแต่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ต่อพงศ์ เสลานนท์

ซึ่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะจัดให้ผู้ได้รับการสรรหา ประชุมเพื่อเลือกประธานกรรมการ จากนั้นจะแจ้ง นายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

และเมื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว ให้กรรมการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจได้ และดำเนินการสรรหา กสทช.ให้ครบจำนวน 7 คน ต่อไป

รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย

ย้อนรอยสรรหายาว 2 ปี

ทั้งนี้กว่าจะได้ กสทช. ชุดใหม่นี้ ก็เสมือนเป็น “มหากาพย์” แห่ง “การสรรหา” กินเวลามากว่า 2 ปี ถูก “ล้มกระดาน” มา 2 ครั้ง ท่ามกลาง “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง” ว่า รายชื่อไม่ถูกใจ “คนมีอำนาจ” จนทำให้ กสทช.ชุดปัจจุบันต้อง นั่งเก้าฮี้ลากยาวมาถึง 10 ปี!!

ซึ่งการคว่ำรายชื่อการสรรหาครั้งแรกเมื่อปี 62 อ้างว่ารายชื่อ 14 รายที่ได้รับการเสนอมานั้นมีคุณสมบัติ ยังไม่ถูกสเปก ทำให้หัวหน้า คสช.ในเวลานั้น จึงงัดกระบองยักษ์ “อำนาจพิเศษ ม.44” ออกคำสั่ง ระงับกระบวนการสรรหาและให้ กสทช.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ทำหน้าที่ต่อไปก่อน

ส่วนการ “ล้มกระดาน” ครั้งที่ 2 เมื่อเดือน มี.ค.64 เมื่อที่ประชุมวุฒิสภา ได้เร่งพิจารณา พ.ร.บ.องค์กรจัดสรร คลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2564 และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ ส่งผลรายชื่อว่าที่ กสทช. ที่มีเสียงลือให้แซ่ด!!ว่า ยังไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ “ถูกคว่ำ” ไปอีกครั้ง ทำให้ต้อง “ตั้งโต๊ะ”เริ่มนับหนึ่งในการสรรหาใหม่

ภาพ ดีแทค

 งานหินรอ กสทช.ใหม่สะสาง

อย่างไรก็ตาม สำหรับภารกิจ ของ กสทช. ชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำงาน ถือว่ามี “งานหิน” รออยู่ เรียกว่าเป็น “เผือกร้อน” ก็ไม่ผิดนัก เพราะมีงานที่ “คาราคาซัง” มาจาก กสทช. เก่า อยู่หลายงานที่เป็น “วาระเร่งด่วน”

ไม่ว่าจะเป็น การประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ที่เดิมกำหนดจัดประมูลในวันที่ 28 ส.ค. 64 แต่ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว กลัวว่าจะไม่มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมถึงหลายๆฝ่าย อาทิ กระทรวงดีอีเอส ออกมา “เบรก” ขอให้ชะลอ เพื่อให้ กสทช. ชุดใหม่ เป็นผู้ดำเนินการ

เรื่องการประมูลดาวเทียม เป็นเรื่องที่จะชักช้าแบบ “เต่าคลาน” ไม่ได้ เพราะหากทอดเวลาเนิ่นนาน จน สหภาพโทรคมนาคม ระหว่างประเทศ  หรือ ไอทียู (ITU) ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ได้มีการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ได้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง ก็มีความเสี่ยงที่ไทยจะถูกยกเลิกสิทธิ ออกจากทะเบียนความถี่หลักระหว่างประเทศได้ หรือเรียกง่ายๆว่า ถูกยกเลิกสิทธิให้ใช้วงโคจร

 เมื่อถึงเวลานั้นความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง และต้องสืบสาวหา “ผู้รับผิดชอบ” กันให่วุ่นแน่ๆ

ภาพ pixabay.com

ประมูลคลื่นเรื่องใหญ่

ส่วนอีกหนึ่งงานสำคัญรออยู่ คือ การประมูลคลื่นวิทยุกระจายเสียง ที่จะเปลี่ยนผ่านระบบการ ใช้งานคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงไปสู่ระบบการอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่ และประกอบกิจการกระจายเสียง ซึ่งได้วางโรดแม็พไว้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนวันที่ 4 เม.ย.65

เรียกได้ว่า “ไฟลนก้น” กันแล้วกับระยะเวลาที่วางไว้ ก็ยังไม่รู้ว่า “จะออกหัวหรือก้อย” เสร็จตามกำหนด หรือต้องเลื่อนออกไปอีก!?!

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง การประมูลคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อใช้งาน 5 จี รวมถึงคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์  และ คลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ ที่ถูกประมูลไม่หมด จนผลสุดท้ายต้องเก็บไว้ “จนเสียของ” ไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิด ประโยชน์ ต่อประชาชนและประเทศชาติ??  

ทั้งหมดนับเป็น “งานช้าง” ที่รออยู่ ขณะที่อีก 2 กสทช. คือ ด้านกิจการโทรคมนาคม กับด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.(ด้านกฎหมาย) ยังต้องรอให้มีการสรรหาใหม่ ซึ่งก็ยังไม่รู้จะได้เมื่อไร? และมีผลต่อการทำงานที่เกี่ยวข้องกับด้านโทรคมนาคมหรือไม่?? โดยเฉพาะการประมูลคลื่นความถี่ที่รออยู่!!

นี่…ไม่นับรวมประเด็นร้อนเรื่อง “บิ๊กดีล” การควบรวมของ “ทรู-ดีแทค” ที่ยังต้องรอพิจารณาว่าเข้าข่ายผิด กฎหมาย กสทช. หรือไม่อีก!!

 ที่สังคมกำลังจับตามองว่าหวยจะออกไปทางไหน “ผิดหรือไม่ผิด?- ควบรวมกันได้หรือไม่ได้?”

ภาพ ดีแทค

ราคาแพงไม่ตอบโจทย์

ในการประมูลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เรื่องการตั้งราคาให้สูง “กวาดเงิน” เข้ารัฐมากๆ อาจไม่ตอบโจทย์ เมื่อมีตัวอย่างให้เห็นในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น การประมูลทีวีดิจิทัล และประมูลคลื่น 3 จี 4จี และ 5จี โดยในเรื่องนี้ ทาง “สืบศักดิ์ สืบภักดี” นักวิชาการด้านโทรคมนาคม มองว่า การประมูลของ กสทช.ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ราคาไม่ใช่ตัวตั้ง อีกแล้ว 

ต้องดูเรื่องความพร้อมของเอกชนและเทคโนโลยีแทน การตั้งราคาประมูลสูงเกินไปจนเอกชนไม่สามารถประมูลได้ ทำให้ไม่เกิดประโยชน์ใดๆกับทุกฝ่าย ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน

สืบศักดิ์ สืบภักดี

โดยคาดหวังว่า กสทช.ชุดใหม่จะมองประเด็นนี้ด้วย  ต้องผลักดันให้คลื่นความถี่ที่มีอยู่ได้นำออกมาใช้ ให้เป็นประโยชน์ เพราะการทำราคาประมูลคลื่นความถี่ให้สูงหวังกวาดเอาเงินเข้ารัฐมากๆ

สุดท้ายแล้วก็จะสะท้อนมาที่ค่าบริการ ประชาชนต้องเป็น “ผู้รับกรรม” ต้องจ่ายค่าบริการแพงอยู่ดี!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์