ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยว่า โดยในปี 2564 วศ. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาตลอดจนพัฒนางานบริการเห็นผลเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องทั้งในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาวิธีทดสอบ การทดสอบเพื่อการพัฒนาคุณภาพ การทดสอบเพื่อการส่งเสริมการผลิต รวมถึงการพัฒนามาตรฐาน การพัฒนาระบบงาน เช่น ระบบความปลอดภัย คุณภาพ และการพัฒนากำลังคน ซึ่งก็ทำได้ครบถ้วนทุกภารกิจในระดับที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ให้ทุนและผู้รับบริการถือเป็นที่น่าพอใจ อีกทั้ง วศ. มุ่งมั่นในการวิจัย พัฒนาผลงานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม มีการริเริ่มงานใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของประเทศ สำหรับผลงานสำคัญ โดดเด่น 12 ผลงานที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1. คอนกรีตแห้งใช้กับสภาพแวดล้อมทางทะเล วศ. ได้มีการพัฒนาและออกแบบสูตรคอนกรีตให้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล สามารถผสมน้ำและใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องผสมทรายและหินเพิ่มเติม ทำให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับงานคอนกรีตขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงจะเกิดความเสียหายของสิ่งก่อสร้างอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมทางทะเล เป็นผลงานที่ได้รับรางวัล Bronze Award ในงาน “มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2564” 2. พาสต้าจิ้งหรีดแปรรูป วศ. เล็งเห็นความสำคัญของอาหารโปรตีนทางเลือก ซึ่งเป็นอาหารแห่งอนาคต ทั้งนี้ วศ. ช่วยพัฒนาเส้นพาสต้าจิ้งหรีดให้ผู้ประกอบการในจังหวัดขอนแก่น พร้อมส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัลชนะเลิศจากกรมปศุสัตว์ ภายในงานมหกรรมจิ้งหรีดประจำปี 2564


3.“หุ่นยนต์ปิ่นโต” เป็นนวัตกรรมที่ วศ. พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ได้ผลิตและส่งมอบให้โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามที่แจ้งความประสงค์ไม่น้อยว่า 80 ตัว 4.ชุดสมาร์ทคิท ทดสอบเครื่องวัดอุณหภูมิอินฟาเรด วศ. พัฒนาชุดสมาร์ทคิท หรือชุดถ่ายโอนมาตรฐาน เพื่อใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องของการอ่านค่าอุณหภูมิของเครื่องวัดอุณหภูมิชนิดไม่สัมผัส เพื่อสนับสนุนหน่วยตรวจหรือจุดคัดกรองตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 5. PAPR แลปเดียวในประเทศไทย วศ. จัดทำประกาศ “ข้อกำหนดคุณลักษณะอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจจ่ายอากาศบริสุทธิ์แบบหมวกคลุมครอบศีรษะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์” หรือ PAPR และร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาเครื่องมือและงานบริการทดสอบชุด PAPR ทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตไทยที่พัฒนาและผลิตชุด PAPR เพื่อให้ได้มาตรฐานลดการพึ่งพิงจากต่างประเทศ 6. มาตรฐานเฝือกขาจากยางพารา วศ. ได้พัฒนา “ข้อกำหนดคุณลักษณะเฝือกขาจากยางพารา” และประกาศใช้เพื่อให้มีการรับรองคุณภาพที่เหมาะสมต่อการใช้งานของประชาชน และได้เกณฑ์การยอมรับที่ถูกต้องเป็นไปตามหลักวิชาการของทุกภาคส่วน 7. ข้อกำหนดหน้ากากผ้ากรองอนุภาคขนาดเล็กใช้ซ้ำได้ วศ. จัดทำประกาศ “ข้อกำหนดคุณลักษณะหน้ากากผ้ากรองอนุภาคขนาดเล็กมีประสิทธิภาพสูงและใช้ซ้ำได้” เพื่อให้มีการรับรองคุณภาพและความปลอดภัยที่เหมาะสมต่อการใช้งาน 8. เจลล้างมือแอลกอฮอล์ สูตรกรมวิทยาศาสตร์บริการ วศ. พัฒนาสูตรเจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่มีส่วนประกอบของเอทิลแอลกอฮอล์ และมีสารให้ความชุ่มชื้นลดการแห้งตึงของผิว ผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการแล้วพบว่ามีปริมาณเอทิลแอลกอฮอล์มากถึง 72% และไม่พบเมทิลแอลกอฮอล์ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจถึงความปลอดภัยในการใช้งาน


9. การมัดย้อมด้วยสีธรรมชาติและลายเส้นบาติกบนผืนผ้า วศ. จัดฝึกอบรมหลักสูตรการมัดย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติและการเขียนลายเส้นบนผ้าบาติกในพื้นที่ จ.กระบี่ โดยการนำวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาสกัดเป็นสีย้อม เพื่อพัฒนาทักษะในการสร้างลายเส้นบาติกให้เป็นอัตลักษณ์ 10.เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียจากสีย้อม วศ. ตระหนักถึงสารมลพิษที่ปนเปื้อนในน้ำทิ้งจากการย้อมสีถูกระบายลงสู่ธรรมชาติ จึงได้พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียจากการย้อมสีสำหรับผลิตภัณฑ์ โดยเป็นระบบอย่างง่าย มีขนาดเล็ก ประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง โดยในปี 2564 วศ.ถ่ายทอดเทคโนโลยีและติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียจากการย้อมสีให้กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 9 กลุ่ม 11. บริการ Clear and Clean ส่งคืนพื้นที่ปลอดภัยสู่ชุมชน วศ. ดำเนินการตามนโยบาย “อว.พารอด” โดยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดตามสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อส่งคืนพื้นที่ปลอดภัยแก่ชุมชน โดย วศ. ดำเนินการในพื้นที่ศูนย์พักคอย ชุมชน โรงเรียน วัด และสถานีตำรวจ จำนวนกว่า 30 หน่วยงาน และ 12. เทคโนโลยีพร้อมเสิร์ฟสำหรับผู้ประกอบการ SMEs วศ. มีความมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีพร้อมเสิร์ฟถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย ในรูปแบบสื่อออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เลือกรับความรู้ตามศักยภาพและ เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงภาวะวิกฤตจากโควิด-19


ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถตรวจสอบรายการทดสอบต่างๆ ได้ที่ http://onestop.mhesi.go.th/mstq/web/ โดยส่งตัวอย่างแบบปกติ ณ ศูนย์บริการ One Stop Service อาคาร ดร.ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมชำระค่าธรรมเนียม และกรณีส่งตัวอย่างทางไปรษณีย์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ จะส่งใบแจ้งหนี้ในวันที่ได้รับตัวอย่างทางไปรษณีย์ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2201-7000 หรือ www.dss.go.th และ Facebook :DSSTHAISCIENCE ในวันและเวลาราชการ