นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ในปี 65 จะเร่งจัดตั้ง สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (NBDi) หรือ เอ็นบีดีไอ โดยจะเป็น องค์การมหาชน ภายใต้สังกัด กระทรวงดีอีเอส หลังจากที่ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยจะแยก สถาบันส่งเสริม การวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (จีบีดีไอ) หน่วยงานภายใต้สังกัดของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งเป็น เอ็นบีดีไอ มีภารกิจในการทำงานด้านบิ๊กดาต้า เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเรื่องบิ๊กดาต้ามีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และวางแผนใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า ตามแผนโรดแม็พที่เสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) หากไม่ติดขัดปัญหา อย่างเร็วที่สุดคาดว่าจะจัดตั้ง สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (เอ็นบีดีไอ) ได้ภายในเดือน พ.ค.65 ซึ่งขณะนี้ กระทรวงดีอีเอส โดย ดีป้า กำลังบูรณาการการทำงานกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอผลการดำเนินงานแก่คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่งหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นนี้จะช่วยส่งเสริม การสร้างและพัฒนานวัตกรรมด้านข้อมูลขนาดใหญ่ และ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐานระดับสากล

นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่และระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสานให้เกิดการเชื่อมโยง ข้อมูลขนาดใหญ่ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไปสู่การใช้ประโยชน์ของข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นอกจากนี้ยังให้บริการให้คำปรึกษาทางวิชาการด้านข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้อง พร้อมสนับสนุน องค์ความรู้และบุคลากรด้านข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนานโยบายรัฐบาลต่อไป 

“หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะทำงานเรื่องบิ๊กดาต้าของประเทศ ให้บริการทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยมีอิสระ และความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และงบประมาณของตนเอง ซึ่งรัฐไม่ต้องจ่ายงบประมาณเพิ่ม บุคคลกร จะมาหน่วยงานเดิมประมาณ 50 ราย และจากนักเรียนทุนที่กำลังจะจบจากต่างประเทศกลับมาอีก 200 คน ซึ่งรัฐจะต้องหาหน่วยงานให้ทำงานอยู่แล้ว โดยจะมาทำด้าน นักวิเคราะห์ข้อมูล และวิทยาศาสตร์ข้อมูล จะช่วย ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้าน การจัดการข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ และการใช้ประโยชน์ ในภาคเอกชน ช่วยให้เกิดการนำเรื่องบิ๊กดาต้า การพัฒนาประเทศ ในด้านต่างๆได้มี ประสิทธิภาพมากขึ้น” นายณัฐพล กล่าว