เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ราชวิทยาลัยฯ สนับสนุนใช้วัคซีนโควิด-19 บูสเตอร์โด๊ส ว่า ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงจุดยืนเรื่องวัคซีนโควิด-19 ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 5 ก.ค.64 เพื่อสนับสนุนให้ใช้วัคซีนที่มีข้อมูลประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์ กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่เพียงพอในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ ป้องกันการล่มสลายของระบบบริการ รักษาพยาบาล และสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ต้องทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ต่อมาได้มีนโยบายจาก ศบค.ออกมาชัดเจนแล้วว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็มแล้ว จะได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทาน เป็นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกา หรือ วัคซีนไฟเซอร์ เนื่องจาก พบว่าภายหลังการได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้ว ค่า Nab ลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 เดือน หลังเข็มที่ 2 จึงน่าจะมีการกระตุ้นเข็มที่ 3 ซึ่งควรเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า โดยเฉพาะในสถานการณ์ระบาดสายพันธุ์เดลต้า โดยการกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตราฯ มีรายงานจากกลุ่มประชากรตัวอย่างไม่มากในประเทศไทย ทั้งต่อสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้าได้ดี และน่าจะเป็นวัคซีนที่สามารถได้รับการฉีดกระตุ้นได้เร็วที่สุด

ส่วนการกระตุ้นให้วัคซีนไฟเซอร์ มีรายงานในกลุ่มประชากรตัวอย่างไม่มากนักในต่างประเทศ พบว่า กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีเช่นกันและมีการใช้แล้วในประเทศตุรกี แต่ยังไม่มีรายงานผลให้ทราบ นอกจากนั้นยังไม่ชัดเจนว่าเราจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์เมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนของทั้งสองบริษัท

“การตัดสินใจฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดใดจึงขึ้นกับการตัดสินใจของแต่ละท่าน โดยต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโควิด-19 และความพร้อมของวัคซีนที่จะได้รับด้วย”