หลังจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 พ.ศ.2564 ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.64 ขั้นตอนต่อไปคือการนำเสนอทูลเกล้าฯ เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย พ.ร.ก. เพื่อบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดย “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) แจ้งว่าจะรีบทำหนังสือแจ้งไปยังองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (วาดา) ให้รับทราบว่าไทยได้แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องแล้วเพื่อให้วาดา ปลดล็อกโทษแบนทันที ในเรื่องของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ส่วนเรื่องการห้ามใช้ธงชาติไทย ในเกมระดับนานาชาตินั้น หากการเจรจากับวาดา ไม่เป็นผล ก็จะยังไม่สามารถใช้ธงชาติไทย ได้ในศึกเอเชี่ยนเกมส์ 2022 ที่ประเทศจีน แต่หากการอุทธรณ์กับวาดา ไม่เป็นผลคงจะต้องร้องไปยังศาลอนุญาโตตุลาการการกีฬา (CAS) เพื่อขอให้พิจารณาลดบทลงโทษทั้งหมดต่อไปนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรายหนึ่ง ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงกรณีดังกล่าวว่า จากการตรวจสอบพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. 2564 แบบละเอียดถี่ถ้วน ยังมีแง่มุมที่แหลมคม สุ่มเสี่ยงต่ออนาคตวงการกีฬาไทย ซึ่งอาจนำไปสู่การที่ประเทศไทย จะยังไม่ได้รับการปลดล็อกโทษแบนจากวาดาได้ประการแรก มาตรา 29 ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่วาด้าลงโทษแบนประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องการเข้าตรวจสารต้องห้ามในนักกีฬาแก้ไขเป็น การเข้าตรวจ “ให้กระทำระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เว้นแต่มีเหตุอันควรสงสัยว่านักกีฬามีการใช้สารต้องห้าม หรือวิธีการต้องห้ามและหากปล่อยเนิ่นช้าจะกระทบต่อกระบวนการในการตรวจสอบ ให้เข้าไปตรวจหา สารต้องห้ามหรือวิธีการต้องห้ามในเวลากลางคืนก็ได้” ซึ่งเดิมทีปี 2555 มาตรา 29 (1) ระบุว่า ให้ตรวจหลังพระอาทิตย์ตกไม่ได้ ข้อนี้แม้เราจะผ่อนผันให้เข้าตรวจได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นแต่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วาดาต้องการให้เปลี่ยน และไม่เป็นไปตามกติกาสากลในวงการกีฬาโลกทำกันอยู่

รายงานข่าวระบุอีกว่า ระดับสากลที่ทำกันอยู่ คือ ยึดตาม Athlete Whereabouts หรือ การแจ้งที่อยู่ สถานที่ฝึกซ้อม วัน-เวลา ชัดเจนไว้ในแอพพลิเคชั่นของวาดา นักกีฬาจะได้รับยูสเซอร์ และพาสเวิร์ด จากสหพันธ์กีฬานานาชาตินั้นๆ ซึ่งเจ้าที่หน้าวาดาจะส่งทีมจู่โจมตรวจสารต้องห้ามโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าตาม Athlete Whereabouts ที่นักกีฬาระดับแรงกิงโลก ทำกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะเคยมีกรณีว่า เจ้าหน้าที่วาดา มาตรวจนักกีฬาไทยแล้วนักกีฬาบ่ายเบี่ยงไม่ปวดปัสสาวะ จนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน และกฎหมายไทยคุ้มครองไม่สามารถตรวจได้ ถามว่าทำไม เราไม่แก้ไขพระราชกำหนดฯ ให้เป็นไปตามกติกาสากลกีฬาโลกยึดถือปฏิบัติกันอยู่ด้วยการยึด Athlete Whereabouts ตามการแจ้งของนักกีฬาเท่านั้นก็น่าจะเป็นที่พอใจของวาดา

ส่วนอีกมาตราจากฉบับแก้ไขที่ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของวาดา เพราะไม่เป็นไปตามที่วาดาสั่งการมาคือ มาตรา 18 ที่ระบุว่า “ให้จัดตั้งสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาเป็นหน่วยงานในการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน” คำถามคือ ของเดิมการทำงานของสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา อยู่ในโครงสร้างของ กกท. แล้ววาดา ต้องการให้แยกเป็นองค์กรอิสระตัดขาดจากหน่วยงานรัฐขึ้นตรงกับวาดา เหมือนที่ประเทศญี่ปุ่น และหลายๆ ชาติในยุโรปทำ แต่การแก้ไขมาตรานี้ ยังไม่ตรงกับความต้องการของวาดา ที่ต้องการให้ตัดขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง

รายงานข่าวระบุต่อไปว่า หากการพิจารณาของวาดา เรื่องการปลดโทษแบนของไทยไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังกันไว้ วาดาก็จะยึดโทษแบนที่มีคำสั่งไว้เพราะคำสั่งแบน 1 ปี จะไปสิ้นสุดวันที่ 7 ต.ค.65 นั่นหมายความว่า เราต้องกลับมาแก้ไขอีกรอบ แล้วทำไมเราไม่แก้ไขแบบจริงใจ เลิกการเล่นแร่แปรธาตุภาษากฎหมาย เราควรคำนึงถึงผลประโยชน์วงการกีฬาไทยเป็นสำคัญก่อน

ภาพ : รอยเตอร์