นายวุฒิชัย วังคะฮาต ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ ออกเยี่ยมเกษตรกรริมเขื่อนลำปาว บ้านดงน้อย ตำบลภูสิงห์ อำเภอสหัสขันธ์ โดยมีนางสาวกฤษณา เขามีทอง ประมงอำเภอสหัสขันธ์ นำลงพื้นที่จุดรับซื้อกุ้งใหญ่เขื่อนลำปาว ของนางสาววิลัยพร อิ่มเสถียร เป็นแม่ค้ารับซื้อกุ้งและปลาในพื้นที่ โดยเฉพาะกุ้งใหญ่เขื่อนลำปาว จะมีเกษตรกรนำกุ้งสด ๆ มาจำหน่ายให้ตลอดทั้งวัน

นางสาววิลัยพร อิ่มเสถียร แม่ค้ารับซื้อกุ้ง กล่าวว่า ช่วงนี้เกษตรกรที่อยู่ติดริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว จะออกหากุ้งและได้กุ้งจำนวนมาก วันละ 15-25 กก.ต่อวัน เป็นกุ้งตัวใหญ่ขนาด 4-6 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม โดยที่รับซื้อปีนี้จะให้ราคาสูงเพราะหายากต้องจ้างชาวบ้านช่วยหาเพราะมีออร์เดอร์ต้องการกุ้งจำนวนมาก ซึ่งในส่วนนี้ก็มีที่ออกหาเองบ้าง สำหรับการออกหากุ้งในเขื่อนลำปาว จะมีทั้งวิธีการดำน้ำ และตกเบ็ด ในหนึ่งวันถ้าโชคดีก็ได้กุ้งวันละ 3-5 กิโลกรัม แต่บางวันก็ได้ 2 ตัว 3 ตัว ขึ้นอยู่กับความชำนาญและเชี่ยวชาญลุ่มน้ำ คนหากุ้งในเขื่อนมีหลายหมู่บ้านโดยเฉพาะที่ตำบลภูสิงห์ เพราะมีความเชี่ยวชาญรู้แหล่งกุ้งเป็นอย่างดี ทั้งนี้อยากจะเชิญชวนให้มาอุดหนุนของดีสหัสขันธ์กุ้งใหญ่เขื่อนลำปาว ซื้อไปเป็นของฝากหรือเอาไว้รับประทานเองก็ดี ได้ช่วยอุดหนุนเกษตรกรด้วย

นายวุฒิชัย ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปีนี้เกษตรกรหากุ้งใหญ่ในเขื่อนลำปาวได้จำนวนมาก เป็นผลผลิตคุณภาพจากเขื่อนลำปาว โดยทุกปีทางกรมประมงจะได้รับจัดสรรงบประมาณปล่อยกุ้งและพันธุ์ปลาลงในเขื่อนลำปาวมากกว่า 2 ล้านตัวต่อปี นอกจากนี้ยังมีงบประมาณจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำมาต่อเนื่องทุกปี สำหรับกุ้งใหญ่เขื่อนลำปาว ที่เกษตรกรสามารถจับได้มีขนาด 4-6 ตัวต่อกิโลกรัม ขนาดใหญ่ที่สุดช่วงนี้ประมาณตัวละ 400 กรัม หรือ 4 ขีด ซึ่งขายกันที่กิโลกรัมละ 1,000 บาท ตั้งแต่เดือนธันวาคม เป็นต้นมาขายกุ้งไปแล้วเกือบ 100 กิโลกรัม และคาดว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ แม้จะไม่มีการเฉลิมฉลอง ยอดขายกุ้งใหญ่เขื่อนลำปาว จะยังขายได้ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เพราะเป็นอาหารที่หาได้จากธรรมชาติในเขื่อนลำปาว ปลอดภัยไม่มีสิ่งเจือปน

ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวอีกว่า อากาศเย็น ไม่มีลม จะหากุ้งได้ง่ายเพราะกุ้งก็จะออกมาพ้นเหนือน้ำมาเกาะที่โขดหิน ตอไม้ หรือริมฝั่ง เป็นธรรมชาติของกุ้งโดยปกติ การออกจับกุ้งในเขื่อนของเกษตรกร ทางประมงไม่ได้ห้ามแต่ขอความร่วมมือในการดูแลระบบนิเวศ ในจุดอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ การใช้อุปกรณ์หาปลาที่ถูกต้องตามกฎหมาย มุ่งสร้างความเข้าใจ แต่ไม่ละเลยในการตรวจตราเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อให้เป็นแหล่งอาหาร แหล่งรายได้ของชาวบ้านริมเขื่อนต่อไป