เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) แถลงผลการประชุม ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธานการประชุม  ว่า ภายหลังจากที่มีการประกาศมาตรการของ ศบค.ไปแล้ว 5 วันในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) รายงานพบประชาชนมีการกระทำความผิดฝ่าฝืนตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งหมด 217 ราย แบ่งเป็นฝ่าฝืนมาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน 158 ราย และฝ่าฝืนมาตรการห้ามรวมกลุ่มและมั่วสุม 59 ราย โดยมีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 45 ราย ที่เหลือเจ้าหน้าที่พยายามตักเตือนและขอความร่วมมือ ทั้งนี้ ศปม.เน้นย้ำว่าในส่วนของความทำงานของเจ้าหน้าที่จะเพิ่มความเข้มงวดและขอความร่วมมือประชาชนทั้งในแง่ทำตามมาตรการ ห้ามออกนอกเคหสถาน การรวมกลุ่ม หรือการเดินทางภายในประเทศของประชาชน โดยข้อมูลของกระทรวงคมนาคม พบว่าหลังจากประกาศบังคับใช้มาตรการที่ผ่านมา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังพบว่ามีประชาชนเดินทางอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการข้ามพื้นที่ในจังหวัดเดียวกัน รวมทั้งจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดมีการเดินทางออกนอกจังหวัด โดยที่ประชุม ศบค.มีความเป็นห่วงโดยสอดคล้องกับการรายงานของกรมควบคุมโรค พบว่ามีการรายงานการออกนอกเคหสถาน และพบพฤติกรรมการรวมกลุ่ม ที่กรมควบคุมโรค ยังมีการพบการจับกุมการตั้งวงเล่นการพนัน โดยเปิดท้ายรถกระบะตั้งวงเล่นการพนัน

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า รวมทั้งมาตรการส่งบุคคล ที่เน้นย้ำมาโดยตลอด ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคอย่างรายงานผู้ติดเชื้อที่มีการรายงานประวัติว่า ขณะที่รวมกลุ่มหรือมีการเคลื่อนย้ายการเดินทางไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่มีการเว้นระยะห่าง จึงต้องขอเน้นย้ำว่าจากการรายงานของหลายหน่วยงานในวันเดียวกันนี้พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ยังมีประชาชนบางส่วน และบางกลุ่มไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการได้ ทำให้การรายงานการติดเชื้อยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ศปม.ศบค.รายงานว่ามีประชาชนแจ้งเบาะแส และนำไปสู่การจับกุม มีการร้องเรียนกิจการและสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการมากถึง 102 ข้อร้องเรียน โดยมีการรายงานการมั่วสุม 92 เหตุการณ์ โดยที่ประชุม ศบค.สรุปผลว่า มีความเป็นห่วงว่าอาจจำเป็นต้องมีการปรับมาตรการให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น อาจจำเป็นต้องมีการปิดกิจการบางอย่าง เนื่องจากปัจจุบันการประกาศของ ศบค.ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอนุญาตให้เปิดกิจการ และกิจกรรมถึงเวลา 20.00 น. เพื่อให้ประชาชนมีเวลากลับบ้าน และห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 21.00 น. โดยที่ประชุม ศบค.พิจารณาว่าอาจจะมีการปิดให้มากขึ้น และอาจจะปรับมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น โดยจะมีการออกมาตรการในเร็วๆ นี้  อย่างไรก็ตาม มาตรการล็อกดาวน์ที่ออกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นการออกตามสถานการณ์ปัจจุบัน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและใน 10 จังหวัด ไม่ใช่ทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด แต่เมื่อมีการรายงานทบทวนมาตรการ 5 วันที่ผ่านมา ยังพบว่ามีการบังคับใช้มาตรการยังน่าเป็นห่วง ทั้งนี้ ผอ.ศบค.ขอให้คณะแพทย์ที่ปรึกษาไปทบทวนมาตรการสาธารณสุข เพื่อนำมาเสนออย่างเร่งด่วนในการปรับมาตรการให้เข้มข้นมากกว่านี้.