26 ธ.ค. 2547 ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายเป็นจำนวนมาก  

เหตุการณ์ในครั้งนั้น นำมาซึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่ที่ต้องถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์ของโลก เพื่อเป็นการรำลึกถึง และเป็นสถานที่เก็บหลักฐานของเหตุการณ์ ที่แสดงถึงความร่วมมือของคนไทย และคนทั่วโลก ที่เดินทางมาร่วมรำลึกทุกปี กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดสร้าง พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ (พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม) ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยเลือกพื้นที่ชุมชนบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดจากสึนามิเป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ และมีการจัดซื้อเรือประมง 2 ลำที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิซัดมาเกยตื้น  มาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดแสดงด้วย  

สำหรับพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่กว่า 5 ไร่ อาคารจัดแสดงหลักเป็นอาคารชั้นเดียว ด้านหน้าออกแบบเป็นเส้นโค้งในรูปแบบของคลื่น และมีช่องเปิดรับแสงเป็นทรงกลมแบบฟองคลื่นกระจายตามความยาวของอาคาร ทำให้ภายในอาคารเกิดที่ว่างคล้ายท้องคลื่นยาวตลอดห้องจัดแสดง โดยมีหอเตือนภัยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องมือประมงพื้นบ้านเป็นแลนด์มาร์กที่ให้ผู้มาเยี่ยมเยียนสามารถขึ้นไปชมทัศนียภาพได้โดยรอบ 

โดยส่วนการจัดแสดงหลัก ประกอบด้วย 1.ส่วนจัดแสดงภายนอกอาคาร จัดแสดงเรือประมง 2 ลำ ที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิพัดพาเข้ามาจากชายฝั่งเหลือร่องรอยยังคงเป็นวัตถุพยานที่สำคัญของเหตุการณ์ในครั้งนั้น 2.ส่วนบริการ ภายในมีพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่ให้บริการข้อมูล ส่วนขายของที่ระลึก ห้องน้ำบริการประชาชน โดยมีห้องมัลติมีเดียจัดฉายวีดิทัศน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยสึนามิ เป็นการนำเข้าสู่เนื้อหาการจัดแสดงนิทรรศการ  3.ส่วนจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงที่ร้อยเรียงเรื่องราวประกอบวัตถุจัดแสดงซึ่งเก็บรวบรวมจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 โดยลำดับของการจัดแสดงโซนที่ 1 สัณฐานของบ้านน้ำเค็ม โซนที่ 2 เรื่องเล่าจากผู้ประสบภัย โซนที่ 3 ความรู้เบื้องต้นธรรมชาติของสึนามิ โซนที่ 4 เล่าเรื่องจากวัตถุ โซนที่ 5 และ 6 เป็นเรื่องราวต่อเนื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากภัยพิบัติในด้านการเรียนรู้และป้องกัน ส่วนสุดท้ายโซนที่ 7 เป็นบ้านพื้นที่ที่เปิดให้ชุมชนสามารถเข้าใช้สอยในกิจกรรมของชุมชน และ4.พื้นที่สนับสนุนอื่นๆ เช่น ลานจอดรถและพื้นที่ภูมิทัศน์โดยรอบอาคาร 

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำปฏิทินกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนาม (พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับเด็ก และเยาวชน ชุมชนได้มีกิจกรรมเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ชุมชน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน ประกอบด้วย 

1. กิจกรรมการประกวดภาพถ่าย ในหัวข้อ “บ้านน้ำเค็ม… ในสายตาของฉัน” และกิจกรรมการประกวดบทกวี ในหัวข้อ “น้ำเค็มบ้านฉัน” จัดขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.2565 มุ่งเน้นกลุ่มเยาวชน และประชาชนผู้สนใจภายในจังหวัดพังงา ผู้เข้าประกวดจะต้องถ่ายภาพหรือประพันธ์บทกวี ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านน้ำเค็มในมุมมองของตนเอง  

2. กิจกรรมเรื่องเล่าเรือประมงไทย สาธิตการทำเรือและประกอบเรือ ในหัวข้อ “เรื่องเล่าจากภูมิปัญญา เรือกับชีวิต” มาถ่ายทอดแก่ผู้ร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเสวนา เรื่อง “เรือกับชีวิต-อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต” ช่วงเดือน มี.ค.2565 การจัดกิจกรรมเรื่องการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนประมงบ้านน้ำเค็ม ประวัติเกี่ยวกับเรือสีส้ม สีฟ้า และประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านน้ำเค็ม  

3. กิจกรรมปิดเทอมเติมประสบการณ์ ช่วงปิดเรียน เยาวชน และนักเรียนภายในพื้นที่จะได้ร่วมทำกิจกรรมในเดือน เม.ย.2565 ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิผ่านกิจกรรมในสถานที่ต่างๆ รวมถึงได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนบ้านน้ำเค็ม และของดีบ้านฉัน 

4. กิจกรรมวิธีชีวิตชาวประมง จะจัดในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.2565 โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้สัมผัสและเรียนรู้ชุมชนบ้านน้ำเค็มตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วิถีชีวิตและวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ประมงพื้นบ้านจากภูมิปัญญาท้องถิ่น : ออกเลหาปลา กุ้ง หอย หมึก เครื่องมือประมงพื้นบ้าน การถนอมอาหาร การแปรรูปอาหารทะเล รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล 

5. กิจกรรมการประกวดวาดภาพ ในหัวข้อ “บ้านน้ำเค็ม…ในสายตาของฉัน” เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปร่วมกิจกรรมในช่วงเดือน ก.ค. 2565 โดยการวาดภาพ ที่บอกเล่าเรื่องราวในมุมมองเกี่ยวกับชุมชนบ้านน้ำเค็มในสายตาของตนเอง เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน และประชาชนทั่วไปแสดงผลงานความคิดสร้างสรรค์ผ่านทางภาพวาด นำเสนอมุมมองต่างๆที่มีต่อชุมชนบ้านน้ำเค็ม 

6. กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาบ้านน้ำเค็ม จะจัดในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. 2565 เป็นกิจกรรมจิตอาสา Big Cleaning Day พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ที่สาธารณะ ทำความสะอาด เก็บกวาด ตัดหญ้า บริเวณชุมชนรอบๆ พิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อให้ภูมิทัศน์ตั้งแต่ทางเข้าตลอดจนพิพิธภัณฑ์ฯ มีความสวยงาม น่ามอง พร้อมรับนักท่องเที่ยว 

7. กิจกรรมนิทรรศการหมุนเวียน จัดเตรียมพื้นที่สำหรับนิทรรศการหมุนเวียนในช่วงเดือน ก.พ.2565 และเดือน ส.ค.2565 ซึ่งเป็นการนำเสนอเรื่องราวด้านสังคม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชน ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ ทำให้ผู้ที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้ว สามารถกลับมาเยี่ยมชมซ้ำได้อีก 

กระทรวงวัฒนธรรม มุ่งหวังให้พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ หรือ พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา นอกจากจะเป็นสถานที่รำลึกถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งสำคัญของคนไทยแล้ว จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ศูนย์รวมกิจกรรมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมชุมชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงอย่างยั่งยืนต่อไป