รายงานข่าวจากไลน์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ไลน์ ได้สรุปความสำเร็จในปี 64 ซึ่งเป็นปีที่ 10 ของไลน์ โดยสามารถพิชิตยอดผู้ใช้งานถึง 50 ล้านคน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นพลเมืองดิจิทัลของคนไทยมากกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด โดยไลน์ ยังคงทำหน้าที่ช่วยเชื่อมผู้คนผ่านฟีเจอร์สื่อสารต่าง ๆ ให้ได้ใกล้กันอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับในสถานการณ์ล็อกดาวน์ที่การสื่อสารของคนไทยไม่สะดุดแม้ต้องรักษาระยะห่าง เห็นได้จาก LINE Group VDO Call ที่ทะยานสูงถึง 99% (ระหว่าง ม.ค.–ต.ค. เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ในขณะเดียวกัน LINE Meeting ก็เติบโตสูงขึ้นถึง 191% (นับตั้งแต่ช่วงเปิดตัวเมื่อ ส.ค. 2563) สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยนั้นนอกจากจะใช้ไลน์ สื่อสารในชีวิตประจำวันแล้ว ยังใช้ในการทำธุรกิจและการทำงานช่วง Work From Home อีกด้วย

ขณะเดียวกัน LINE OpenChat ก็เป็นคอมมูนิตี้ออนไลน์ที่ต้องจับตามอง นอกจากจะมียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 52% มีกรุ๊ปใหม่ๆ เกิดขึ้นถึง 106% (ม.ค.–ก.ย. 64 เทียบกับปีก่อนหน้า) ตัวเลขดังกล่าว ไม่ได้ใช้เพียงแค่การเติบโตของตัวเลขเท่านั้น แต่ยังเห็นโอเพ่นแชตในหลายบทบาท โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์, เกม, แฟนดอม, คอมมูนิตี้แหล่งรวมความรู้ด้านการเงินและการลงทุน หรือแม้แต่การใช้โอเพ่นแชตเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานและศูนย์ให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์เกี่ยวกับโควิด-19 ของโรงพยาบาล มูลนิธิ และกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ มากมาย

ทั้งนี้ก่อนส่งท้ายปี ได้มีการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ LINE VOOM แท็บที่สามบนแอพ ที่มาเสริมบริการด้านโซเชียลมีเดียให้แข็งแรงและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยผู้ใช้ไลน์ สามารถเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะวิดีโอสั้นรูปแบบต่าง ๆ

สำหรับในส่วน “LINE Official Account ยังคงครองตำแหน่งช่องทางยอดนิยมของธุรกิจไทยในการนำเสนอสินค้าและบริการ พร้อมการพูดคุยและปิดการขาย ด้วยยอดการใช้งานที่เพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านบัญชี (ณ เดือน ส.ค. 2564) เป็นการเติบโตถึง 25% ภายใน 1 ปี ครองใจผู้ประกอบการทุกขนาดทั้งองค์กรใหญ่, MSMEs รวมไปถึงแบรนด์แฟชั่นลักชัวรี ด้วยการเป็นช่องท่างที่ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างถึงลูกถึงคน

ขณะเดียวกันก็ยังเพิ่ม 2 โซลูชันที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพ LINE Official Account ให้ครบรอบด้านยิ่งขึ้นได้แก่ MyRestaurant โซลูชันสำหรับธุรกิจร้านอาหารยุคใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วประเทศ และ MyCustomer โซลูชันในการจัดการบริหารข้อมูลลูกค้า สำหรับธุรกิจองค์กรให้สามารถขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มการเงิน ประกัน และการธนาคาร (Financial, Insurance/Banking), กลุ่มรีเทลและอีคอมเมิร์ซ  (Retail & E-commerce) และกลุ่มภาครัฐ (Government & Public Sector)

ส่วนช่องทางการลงโฆษณาอย่าง LINE Ads Platform ก็เติบโตถึง 42% (ณ ตุลาคม 2564 เทียบกับปีก่อนหน้า) โดย Smart Channel ยังคงครองตำแหน่งโฆษณายอดฮิต ครองใจนักการตลาดในตลาดโฆษณาออนไลน์ที่มีตัวเลขการเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 63% นับตั้งแต่ต้นปี

ด้าน ไลน์ ช้อปปิ้ง เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยังคงครองตำแหน่งแพลตฟอร์ม Social Commerce ในใจคนไทย ด้วยยอดขายเติบโตเกือบ 5 เท่า จากปีก่อนหน้า โดยสินค้าความงาม แฟชั่น และอาหารครองแชมป์ยอดขายสูงสุด ส่วนทางด้าน ไลน์แมน รุกหนักเพิ่มพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 77 จังหวัด 222 อำเภอ ดันยอดผู้ใช้ทั่วประเทศเติบโต 2.5 เท่า ครองแชมป์ฟู้ดดิลิเวอรี่ที่มีร้านอาหารเยอะที่สุดกว่า 500,000 ร้าน ความสำเร็จในการขยายบริการครอบคลุมทั่วประเทศ ถือเป็นหลักไมล์แรกที่ตั้งเป้าช่วยพัฒนาและยกระดับธุรกิจท้องถิ่นในไทย ผ่านการเชื่อมต่อลูกค้า ไรเดอร์ และร้านอาหารท้องถิ่นเข้าด้วยกัน

ในอีกบริการ คือ LINE STICKERS มีจำนวนสติกเกอร์ที่วางขาย ณ ปัจจุบันกว่า 4.4 ล้านเซต เพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนถึง 20% ปัจจุบันมีครีเอเตอร์กว่า 9 แสนราย ขณะที่เสียงรอสายเสียงเรียกเข้า LINE MELODY ก็เดินหน้าเพิ่มเพลงฮิตใหม่ ๆ รวมกว่า 37,000 เพลง ยอดดาวน์โหลดเติบโต 57% จากปีก่อน ถือเป็นบริการที่ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 2.4 ล้านราย

ส่วนคอนเทนต์และความบันเทิง LINE TV ก็ขอส่งท้ายด้วยความประทับใจด้านงานคุณภาพ เพราะสามารถพาออริจินัลคอนเทนต์กวาดรางวัลทั้งในและต่างประเทศตลอดปี โดยเฉพาะ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” กับรางวัล International Drama of The Year จากเวที Seoul International Drama Awards เกาหลีใต้

ขณะที่ฟาก LINE TODAY ที่กลายเป็นแพลตฟอร์มคอนเทนต์ที่มากกว่าแค่สาระ ให้ตามทันทุกเทรนด์ก็มียอดเพจวิวโตถึง 50% จากปีก่อน เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยสารพันคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์หลากหลาย คอนเทนต์วิดีโอสั้นมาแรงที่มีผู้ชมเพิ่มถึง 7 เท่า และไม่ลืมที่จะเอาใจสายมูด้วยฟีเจอร์เซียมซีจาก 80 วัดดัง แล้วไปมูกันต่อยาวๆ กับ LINE DOODUANG บริการใหม่ที่ออกมาเพื่อเสริมประสบการณ์ขอพร–แก้บนออนไลน์ได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน

ด้านบริการ LINE GAME มียอดผู้เล่นเติบโตในทุกเกม โดยเกมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ LINE Let’s Get Rich ในขณะที่เกมที่เติบโตและขายไอเท็ม (Gross Sale) ได้มากที่สุดคือ LINE Rangers ส่วนสายการ์ตูนอย่าง LINE WEBTOON ก็มียอดวิวของออริจินัลคอนเทนต์สูงขึ้นถึง 16% (เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) ส่งให้ยอดขายโดยรวมสูงขึ้นถึง 85% โดยหมวดหมู่คอนเทนต์ที่มาแรงมากในปีนี้ได้แก่แอ๊คชั่น แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็นแนวโรแมนติก

ด้านบริการทางการเงิน อย่าง LINE BK บริการ social banking รายแรกของไทย ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา LINE BK มีผู้ใช้บริการกว่า 3.9 ล้านราย มีการเปิดใช้งานบัญชีเงินฝาก 4.5 ล้านบัญชี บัตรเดบิต 2 ล้านบัตร ส่วนใหญ่เป็นบัตรประเภทออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมชอปปิงออนไลน์ที่สูงขึ้น ขณะที่ด้านบริการให้กู้ยืมนั้นมีวงเงินให้ยืมทั้งสิ้นกว่า 5 แสนบัญชี เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เชื่อถือได้สำหรับเหล่าฟรีแลนซ์และผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ ขณะที่ Rabbit LINE Pay มีผู้ใช้รายเดือนเติบโตขึ้น 35% เมื่อเทียบกับต้นปี พบผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตมากขึ้นเป็น 31% ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสูงขึ้น 126% เมื่อเทียบกับต้นปีเพราะความสะดวกและคุ้มค่าเช่นเดียวกัน