เมื่อปี 2563 มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จัดสร้างเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 (ต้นแบบ) รุ่นที่ 1 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก GC Group พร้อมทั้งลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ร่วมกัน โดย GC Group สนับสนุนบุคลากรนักวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรมการออกแบบ เพื่อพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 รุ่นที่ 2 และในปี 2564 GC ได้พัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 รุ่นที่ 3 และส่งมอบให้กับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 4 เครื่อง

พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีรับมอบเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 รุ่นที่ 3 กล่าวว่า ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าให้สถาปนาก่อกำเนิดมูลนิธิ และทรงมีพระบรมราโชบาย สืบสาน รักษาและต่อยอด มูลนิธิก็คงดำเนินนโยบายตามที่พระบรมราโชบายของในหลวง เพราะฉะนั้นภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้น หรือว่าความเดือดร้อนของประชาชนนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่มูลนิธิจะเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่ง PM2.เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหา ประชาชนเดือดร้อน เราก็ได้รับความร่วมมือจาก GC เข้ามาช่วยเหลือ เพราะว่า GC มีนวัตกรรม มีองค์ความรู้ เราเป็นเพียงแค่ผู้ริเริ่มเท่านั้นเอง แต่ GC สานต่อมาถึงขั้น2 ขั้น 3 แล้ว ซึ่งผมเห็นว่าเครื่องนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ที่เดียว และสามารถเอาแบบนี้มอบให้ประชานหรือหน่วยงานของรัฐไปสร้างใช้เองในประเทศไทย และราคาถูกด้วย

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) กล่าวว่า GC Group เราได้มีความร่วมมือกับทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์มา 2-3 ปีแล้ว เราได้สานต่อเครื่องบำบัดมลพิษ ลด PM.2.5 ซึ่งGC เรามีนวัตกรรม มีทีมวิศวกร มีทีมงานช่วยกันทำ รุ่นแรกถูกพัฒนาใน 2 ปีที่แล้ว จนวันนี้เป็นรุ่นที่ 3 มีพัฒนาการอยู่ 3-4 ด้าน เรื่องแรกประสิทธิภาพการกรอง ได้99.2% สองคือช่วยกำจัดเชื้อโรค เวลากรองด้วยพิลเตอร์ออกมาแล้ว ด้านล่างจะมี UV กำจัดเชื้อโรค เชื้อไวรัสได้ เรื่องที่สาม GC ทำนวัตกรรมเรื่องพลาสติก

เรามีความเชื่อเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular economy เราเลยมีองค์ประกอบของเครื่องนี้ที่เป็นพลาสติกบางส่วน คือเอาพลาสติกธรรมดามาโม เพราะฉะนั้นมันจะไม่มีรอยต่อ ทนแดด ทนฝน ทนอะไร แต่ว่าเราก็มีการเอาฝาขวดมารีไซเคิลใช้ร่วมกันด้วย เลยช่วยโลกได้หลายเรื่อง คือ ลดฝุ่น ช่วยฆ่าเชื้อโรค และยังเอาพลาสติกเรื่องรีไซเคิลมาใช้งานได้ด้วย ตอนนี้พัฒนาให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น แต่ว่าจุดประสงค์ต่อจากนี้คือ เรามีแบบให้ทางมูลนิธินำไปเผยแพร่ให้ประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศสามารถนำไปสร้าง ไปผลิตเองตามแบบได้เลย

เครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 รุ่นที่ 3 ใช้ระบบตัวกรอง 3 ชั้น เพิ่มจุดเด่นด้วยการเพิ่มระบบฆ่าเชื้อโรคในอากาศ ด้วยหลอดยูวีซีบริเวณอากาศขาออกจาก Filter ประสิทธิภาพ 98-99% ใช้นวัตกรรมพลาสติกของ GC Group เป็นส่วนประกอบของเครื่อง โดยนำเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น หรือ LLDPE Compound ผสมกับฝาขวดน้ำพลาสติกรีไซเคิล นำมาผ่านกระบวนการผลิตแบบหมุนเหวี่ยง (Rotational Molding) เพื่อสร้างชิ้นงานที่ไม่มีรอยต่อ มีความแข็งแรงสูง และทนต่อรังสี UV เหมาะสำหรับใช้งานกลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน พร้อมด้วยระบบเซนเซอร์และจอแสดงผลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพอากาศแบบในรูปแบบเรียลไทม์

ด้านการออกแบบ ดำเนินงานร่วมกับ รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา ในการพัฒนารูปแบบของเครื่องให้มีลักษณะที่สวยงาม เป็นมิตรกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม และรศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าทีมวิจัยเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษาในส่วนของระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศและหน้าจอแสดงผล PM2.5

สำหรับหน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อขอรับ Blueprint เพื่อนำไปต่อยอดในการสร้างเครื่องบำบัดอากาศ สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-2811902