วันนี้ (15 ธ.ค.) นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า เปิดเผยว่า เอ็ตด้าได้สำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 โดยในปี 64 นี้ ได้เก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถาม กับกลุ่มตัวอย่าง 44,545 คน พบว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปีนี้เป็นปีแรกที่ กลุ่มเจนซี (อายุน้อยกว่า 21 ปี) ทุบสถิติใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุด เฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง 5 นาที แซงหน้ากลุ่มเจนวาย (อายุ 21-40 ปี) แชมป์ 6 สมัย โดยปีนี้ใช้อินเทอร์เน็ต เฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 52 นาที ส่วนเจนเอ็กซ์ (อายุ 41-56 ปี) ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 9 ชั่วโมง 12 นาที และสุดท้าย เบบี้ บูมเมอร์ (อายุ 57-75 ปี) ใช้น้อยที่สุด เฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมง 21 นาที ตามลำดับ

“หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ กลุ่มเจนซี ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากที่สุดเพราะต้องเรียนออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง 23 นาที รองลงมาคือ ดูรายการโทรทัศน์ ดูคลิป ดูหนัง ฟังเพลงออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง 11 นาที เพื่อพักผ่อนหลังเรียน และสุดท้ายใช้ติดต่อสื่อสารออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง 39 นาที นอกจากนี้ผลสำรวจ ภาพรวม ยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบสำรวจ ส่วนใหญ่มีการใช้อินเทอร์เน็ต เฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 36 นาที และมีผู็ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่ประมาณ 9 ล้านคน โดยจะใช้งานในวันธรรมดา เฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 55 นาที มากกว่าวันหยุดที่ใช้ 9 ชั่วโมง 49 นาที หลังจากปีที่ผ่านมาๆ จะมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตในวันหยุดมากกว่า ซึ่งเป็นผลมาจากหลายคนต้องทำงานจากที่บ้านและเรียนออนไลน์”

ชัยชนะ มิตรพันธ์

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมออนไลน์ที่นิยมทำมากที่สุด คือ การติดต่อสื่อสาร 77.0% รองลงมาคือ กิจกรรมดูรายการโทรทัศน์ ดูหนัง ฟังเพลงออนไลน์  62.4% และเพื่อค้นหาข้อมูลออนไลน์ 60.1% อ่านข่าว บทความ หรือหนังสือ 54.2% ซื้อสินค้า บริการ 47.7% นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมใหม่ คือ ใช้ ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการช่วยเรื่องการออกกำลังกาย ประเมินเกี่ยวกับสุขภาพ 34.8% การสั่งฟู้ดดิลิเวอรี่ 34.1% ฯลฯ

ส่วนปัญหาในการใช้อินเทอร์เน็ตที่พบส่วนใหญ่มักเป็นประเด็นที่เคยพบเจอในช่วงที่ผ่านมา โดย 5 อันดับแรกที่พบมากที่สุด คือ ความล่าช้าในการเชื่อมต่อหรือใช้อินเทอร์เน็ต 70.1% ปริมาณโฆษณาออนไลน์ที่มารบกวน 65.2% ความไม่มั่นใจว่าข้อมูลที่ปรากฏบนอินเทอร์เน็ตเชื่อถือได้หรือไม่ 38.0% การให้บริการอินเทอร์เน็ตยังไม่ทั่วถึง 37.1% และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยากหรือหลุดบ่อย 26.9%

ในเรื่องของพฤติกรรมการชอปปิงออนไลน์พบว่าช่องทางที่ผู้ซื้อนิยมซื้อสินค้า/บริการออนไลน์มากที่สุด คือ ผ่านแพลตฟอร์ม e-Marketplace สูงสุดจะเป็น Shopee 89.7% รองลงมาคือ Lazada 74.0% และ Facebook 61.2% โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่เลือกแพลตฟอร์มจากการที่สินค้ามีราคาถูก คุ้มค่ากับการซื้อ แพลตฟอร์มใช้งานง่าย สินค้ามีความหลากหลาย ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นในระบบชำระเงินของแพลตฟอร์ม รวมถึงการมีโปรโมชั่นในช่วงวันสำคัญต่างๆ ในแต่ละเดือนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนช่องทางที่ผู้ขายนิยมขายสินค้าผ่าน Social Commerce มากที่สุด คือ  Facebook 65.5% รองลงมาคือ Shopee 57.5% และ LINE 32.1% โดยผู้ขายส่วนใหญ่ให้เหตผุลว่าเลือกแพลตฟอร์มจากการที่แพลตฟอร์มใช้งานง่าย มีชื่อเสียง สามารถทำการตลาดได้ตรงตามวัตถุประสงค์/ตรงกลุ่มเป้าหมาย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการถูก และมีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย เป็นต้น

เมื่อมองในมุมของสิ่งที่กังวลหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในการซื้อขายของออนไลน์ สำหรับผู้ซื้อแล้วหนีไม่พ้นในประเด็นสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง เช่น ผิดสี ผิดขนาด ไม่ตรงปก อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง นอกจากนี้จะมีประเด็นสินค้าที่ได้รับเกิดความเสียหาย ค่าขนส่งแพง สินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล และเรื่องความไม่เชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลในแพลตฟอร์ม

ส่วนปัญหาที่ผู้ขายพบมากสุด คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูง เช่น ค่าธรรมเนียมการขาย/ค่าคอมมิชชัน ค่าธรรมการชำระเงิน ค่าขนส่ง ปัญหาต่อมา คือ สินค้าชำรุด สูญหายระหว่างการขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีในมุมของการแข่งขันที่สูง การที่ผู้ขายส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการทำธุรกิจออนไลน์ และเรื่องอัตราค่าจัดส่งที่ค่อนข้างสูง

สำหรับช่องทางการชำระเงินค่าสินค้า บริการออนไลน์ที่คนเลือกใช้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ แอพพลิเคชั่นของธนาคาร (Mobile Banking) 59.9% รองลงมาคือ การชำระเงินปลายทาง (Cash on Delivery) 53.4% การใช้บัตรเครดิต/บัตรเดบิต 46.8% การโอนเงิน หรือชำระเงินผ่านบัญชีโดยไปที่ธนาคาร 38.4% และการใช้ Wallet ของแพลตฟอร์มที่เปิดให้บริการ เช่น Lazada Wallet, Shopee Wallet อยู่ที่ 34.7%

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการใช้ช่องทางออนไลน์ในการชำระเงินเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในมุมของความกังวล พบว่าประเด็นที่คนทำธุรกรรมการเงินออนไลน์กังวลหรือเป็นปัญหามากที่สุด คือ ความไม่เชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของแพลตฟอร์ม รองลงมา คือ ความกังวลเรื่องการถูกหลอกลวง เช่น ในรูปแบบของการใช้อีเมลหรือหน้าเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกเอาข้อมูล และปัญหาที่อาจจะส่งผลต่อความไม่สะดวกในการซื้อของออนไลน์ในบางร้าน คือ การไม่มีบริการรับชำระเงินออนไลน์ไว้ให้บริการกับลูกค้า เป็นต้น

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า ในปีนี้ยังได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ณ์โควิด-19 ที่ต้องพึ่งพาออนไลน์มากขึ้น ทั้งทำงานที่บ้านและ เรียนออนไลน์โดยพบว่า รู้สึกไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน 38.6% กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการทำงานที่บ้าน 37.5% ขณะที่การเรียนออนไลน์ กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่ม 36.2% และขาดอุปกรณ์ในการเรียน 30.8% 

“แนวโน้มกิจกรรมออนไลน์ที่จะเป็นนิวนอร์มัล ทำอย่างต่อเนื่องแม้ว่าสถานการณ์ โควิด-19 ลดลงแล้วก็คือ การซื้อขายสินทรัพย์เพื่อการลงทุนออนไลน์, การชำระค่าสาธารณูปโภคออนไลน์, การทำธุรกรรมทางการเงิน ระหว่างบุคคล, การชำระค่าสินค้า บริการออนไลน์, การอ่าน ข่าว บทความ หนังสือออนไลน์ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าคนไทยจะใช้อินเทอร์เน็ตกับกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ทั่วถึงจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย”