การหยุดให้บริการของ ไลน์ทีวี (LINE TV) หลายคนๆ ที่เป็นแฟนซี่รี่ย์วาย คงบ่นเสียงดายไปตามๆกัน เมื่อถึงสิ้นปีนี้ ช่องทางการรับชมคอนเทนต์จะต้อง “มลายหายไป” อีกหนึ่งช่อง

ไลน์แจ้งเหตุผล คือ ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานทางธุรกิจ อย่างไรก็ตามได้มีการวิเคราะห์กัน อีกสาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะตลาดที่มีการแข่งขันการสูง สำหรับ บริการ โอทีที (OTT) หรือ OVER THE TOP

ทำความรู้จักบริการ “โอทีที”

โอทีที คือ การให้บริการแพร่ภาพและกระจายเสียงผ่าน โครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคมหรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจเป็นบริการผ่าน แพลตฟอร์ม ,โมบายแอพพลิเคชั่น หรือพวก in app purchase คือ การดาวน์โหลดแอพฯ แล้วมีการจ่ายค่าบริการเพิ่มเติม หรือ subscription ที่บอกรับสมาชิกและเรียกเก็บเงินโดยแพลตฟอร์ม ฯลฯ

 ซึ่งบริการโอทีที ระดับโลกที่มีให้บริการในไทย อาทิ เน็ตฟลิกซ์, ยูทูบ, เอชบีโอ นาว,  ดิสนีย์ พลัส ฮอทสตาร์ และสปอติฟาย ฯลฯ ส่วนผู้ให้บริการไทยที่มี เช่น เอไอเอส เพลย์  ทรูไอดี ฯลฯ ที่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม ขณะที่ผู้ให้บริการโทรทัศน์ ก็มีการให้บริการเช่นกัน เช่น บักกาบูทีวี ของช่อง 7 โมโนแมกซ์ ของช่อง โมโน ฯลฯ ซึ่งเป็นบริการที่เก็บเงินค่าบริการ

จากที่ผู้เล่นในตลาดโอทีทีหายไปอีกหนึ่ง วันนี้มาฟังการวิเคราะห์ จาก “สืบศักดิ์ สืบภักดี” นักวิชาการ ด้านโทรคมนาคม ว่าทิศทาง ตลาดโอทีทีของไทยจะเป็นอย่างไร??

“บริการโอทีที” รุกคืบกระทบผู้ประกอบการไทย

“สืบศักดิ์ สืบภักดี” บอกว่า ปัจจุบันบริการโอทีทีเหล่านี้เริ่มรุกคืบเข้ามา กระทบผู้ประกอบการหลัก อย่างเช่น เคเบิลทีวี ที่บอกรับสมาชิก ที่ปัจจุบันเริ่มหายไปจากตลาด ซึ่งอาจจะหลงเหลืออยู่บ้างในต่างจังหวัด เนื่องจาก ผู้ประกอบการโอทีที ไม่ได้ใช้ขอบเขตของประเทศใดประเทศหนึ่งในการทำตลาด โดยในโลกดิจิทัล หรืออินเทอร์เน็ต ไม่มีขอบเขตของประเทศ จึงเป็นช่องโหว่อยู่

สืบศักดิ์ สืบภักดี

โดยผู้ประกอบการดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นทีวี หนังสือพิมพ์ ต่างได้รับผลกระทบ เช่นที่ผ่านมาได้มีการประมูล ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลในราคาแพง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมีการคืนใบอนุญาต หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์  คนก็หันไป อ่านข่าวบนแพลตฟอร์มแทน ฯลฯ

แม้ว่าผู้ประกอบการดั้งเดิมของไทยจะมีการปรับตัว รู้ว่ากระแสโอทีทีมา ก็พยายามสร้างบริการ ทำแพลตฟอร์ม โอทีทีขึ้นมา หรือแม้แต่ทีวีหลายๆช่อง ทำแพลตฟอร์มขึ้นมาเอง แต่ก็ไม่สามารถแข่งขันกับ ผู้ประกอบการโอทีที จากต่างประเทศที่ใหญ่กว่า เพราะให้บริการในทั่วโลก ขณะที่ผู้ประกอบการไทย ให้บริการเฉพาะในประเทศเท่านั้น

“ผู้ประกอบการไทย อาจจะมีคอนเทนต์แค่เฉพาะกลุ่ม แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศ เวลาไปซื้อคอนเทนต์จะทำ scale ตลาดระดับโลก มีคอนเทนต์ที่หลากหลายกว่า ทำราคาได้ถูกกว่า จึงสามารถ เก็บค่าบริการได้ในราคาที่ถูก หลักร้อยบาทต่อเดือนเท่านั้น ทำให้การแข่งขันกับ ผู้ให้บริการโอทีที ระดับโลกยังไงก็สู้ไม่ได้ ”  

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปยอมจ่ายเงิน

ในกรณีของไลน์ทีวี ความจริงแล้วยังมีคนดู  แต่ด้วยกลยุทธ์ทางธุรกิจ อะไรที่ไม่แข็งแรง หรือไปต่อไม่ได้ ก็จะมีการตัดทิ้ง ซึ่งจากการรุกตลาดของโอทีทีจากต่างประเทศมีการผลิตคอนเทนต์เฉพาะคนไทยมากขึ้น การทำตลาด ของไลน์ทีวีจึงอาจได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้พฤติกรรมผู้บริโภคก็มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไลน์ทีวี ไม่มีการเก็บค่าสมาชิก ให้ดูฟรีและแลกกับการดูโฆษณา ซึ่งพฤติกรรมคน ในอดีตตั้งแต่ปี 57 ที่ไลน์ทีวีให้บริการ คนอาจจะยอมดู แต่มาในช่วง 1-2 ปี ที่มีผู้ให้บริการโอทีทีจากต่างประเทศเข้ามา แล้วมีการให้จ่ายค่าบริการแลกกับการเป็น พรีเมียมเมมเบอร์ ซึ่งราคาค่าบริการก็ถูกหลักร้อยต่อเดือน ผู้บริโภคจึง “ยอมจ่ายแลกกับการไม่ต้องดูโฆษณา”

ซึ่งจากกรณีของไลน์ทีวี ก่อนจะมีการประกาศเลิกให้บริการ กลุ่มผู้บริโภคบนไลน์ทีวี ก็เริ่มมีเสียงสะท้อน ออกมาว่า ตัวโฆษณาเริ่มมากไป กว่าจะได้ดูคอนเทนต์ที่ต้องการต้องดูโฆษณาก่อนซีรีส์ กลางซีรีส์ จึงเป็นเรื่องที่ไลน์ทีวี ต้องพิจารณา ซึ่งในอนาคตอาจจะกลับมาให้บริการใหม่อีกครั้งก็ได้ อาจเป็นรูปแบบ ให้จ่ายค่าบริการรายเดือน หรือจ่ายเพิ่มเติมในแอพ ก็ได้

ผู้บริการที่อยู่รอดเงินหนา- คอนเทนต์เจ๋ง

ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ให้บริการโอทีทีสามารถอยู่รอดและแข่งขันในตลาดได้ในปัจจุบัน ก็คือ เงินทุน และ คอนเทนต์ที่ต้อง โดนใจผู้บริโภค แต่มีประเด็นหนึ่งที่ “สืบศักดิ์ สืบภักดี” นักวิชาการด้านโทรคมนาคม มองอีกมุมว่า ถ้าตราบใดที่เรา ไม่สามารถกำหนดกติกา หรือสร้างหลักเกณฑ์ในการทำการค้าบนอุตสาหกรรมโอทีทีให้มีความเท่าเทียมกันได้ ต่อให้ ผู้ประกอบการไทยจะมีทุนหนา มีคอนเทนต์ที่ดี ยังไงก็ยังสู้ผู้ให้บริการจากต่างประเทศไม่ได้

 “แม้ผู้ประกอบการไทยจะทุ่มเม็ดเงินลงไป แต่ scale การให้บริการก็เฉพาะในไทยเท่านั้น ขนาดที่ผู้ให้บริการ จากต่างประเทศมีต้นทุนในการหาและผลิคคอนเทนต์ที่ต่ำกว่า และผู้ประกอบการไทยต้องจดทะเบียนในไทย เสียภาษีรายได้ และหากออนไลน์ ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และถ้าประมูลก็ต้องมีเรื่องใบอนุญาต ในขณะที่ ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ อาจจะตั้งบริษัททำธุรกิจในประเทศหนึ่ง เมื่อค่าคิดบริการ ก็ใช้การตัดบัตรเครดิตผ่านแอพพลิเคชั่น ก็ไม่ต้องเสียภาษี เพราะ ธุรกรรมไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศ ทำให้ต้นทุนในการทำ การค้าไม่เท่ากัน จึงควรจะมีกฎกติกาที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการจากต่างประเทศ”

 ซึ่งเรื่องนี้ยิ่งไม่ชัดเจนเท่าไรก็ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่อาจจะผันตัวมาทำบริการโอทีที ก็ไม่มีทางสู้ผู้ให้บริการ จากต่างประเทศได้เพราะต้นทุนทางธุรกิจไม่เท่ากัน

ภาครัฐจำเป็นต้องรีบสร้างความชัดเจน

ในปัจุบันเราคงไม่สามารถไปปิดกั้นการให้บริการโอทีทีจากต่างประเทศได้ แต่ภาครัฐควรรีบสร้างความชัดเจน ว่าเราควรจะเอาบริการโอทีทีไปวางไว้ตรงไหน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการไทยที่อยากจะทำทีวีแบบดั้งเดิม หรือทีวีออนไลน์ จะต้องไปขออนุญาต อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์กำกับดูแล ในขณะที่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ไม่ต้องทำแบบเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่ต้องหาจุดสมดุลให้ได้

“เรื่องโอทีที ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และไม่ได้เป็นโจทย์เฉพาะประเทศไทย หลายประเทศทั่วโลก กำลังเจอปัญหานี้เหมือนกัน ซึ่งแต่ละประเทศมีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป ซึ่งประเทศไทยก็กำลังศึกษาอยู่ แต่ยังไม่มีว่าวิธีไหนจะเหมาะกับประเทศไทย”

โดยหลักการค้าเสรี การทำธุรกิจจะต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกัน ซึ่งจะเห็นว่าในปัจจุบันบริการ โอทีที หลั่งไหลเข้ามาให้บริการแถบจะไม่ได้ขออนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งที่ดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน หรือฝั่งที่ดูแลเรื่องคอนเทนต์ ซึ่งถ้ามีการสร้างหลักเกณฑ์กติกาใหม่ ผู้ประกอบการไทยก็ควรได้กติกาเดียวกัน กับผู้ให้บริการจากต่างประเทศ

หรือหากภาครัฐบอกว่าอยากควบคุมคอนเทนต์ที่นำเสนอบนแพลต์ฟอร์ม แต่บอกว่าไม่สามารถคุมได้ เพราะผู้ให้บริการจากต่างประเทศไม่ได้จดทะเบียนในไทย ขณะที่ผู้ประกอบการไทยจดทะเบียนในไทยจึงสามารถคุมได้ ก็มีความไม่เท่าเทียม

“ที่ผ่านมาภาครัฐเลยเชิญชวนให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศมาจดทะเบียนเป็นบริษัทในประเทศไทย แต่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศเหล่านี้มองว่าไม่ต้องจดก็ได้ เพราะสามารถทำธุรกิจจากที่ไหนก็ได้ เพราะอินเทอร์ และดิจิทัลแพลตฟอร์มสามารถไปได้ทุกที่ จึงเป็นประเด็นที่ค้างคากันอยู่ตรงนี้”

ทั้งนี้เรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ คงเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงาน กสทช., กระทรวงพาณิชย์ และกรมประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันหนึ่ง ที่กำลังจะออกเร็วๆนี้ คือ ร่างกฎหมายดิจิทัล แพลตฟอร์ม ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอ็ตด้า

ผู้ประกอบการโทรคมนาคมแบกรับการลงทุน

อย่างไรก็ตามอีกมุมหนึ่งในการให้บริการโอทีทีทำผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ประกอบการ “ค่ายมือถือ” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผล กระทบเช่นกัน ต้องกลายเป็นผู้ลงทุนในการขยายโครงข่าย เพื่อให้สามารถลองรับการใช้แบนดวิธ หรือ ความเร็วในการเชื่อมต่อ ใม่ให้สะดุด เพราะการดูคอนเทนต์ต่างๆ หรือการสตรีมมิ่ง ต้องใช้ แบนด์วิดธ รวมถึง ดาต้า หรือปริมาณอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก หากสะดุดไม่เสถียรก็ถูกต่อว่าจากลูกค้า ขณะที่ผู้ให้บริการโอทีที ไม่ต้องมีการลงทุน ในส่วนนี้ กลายเป็นว่า ”ค่ายมือถือ” มีการพัฒนาโครงข่ายอยู่ตลอด แต่ผลกำไรของผู้ให้บริการโอทีที ค่ายมือถือไม่ได้รับการแบ่งด้วย ฯลฯ

“ผู้ประกอบการโทรคมนาคม บางรายที่มีบริการอินเทอร์เน็ตแบบไฟเบอร์ มีการออกกล่อง เช่น เอไอเอสเพลย์ และทรูไอดี ก็มีการไปผนวกกับผู้ให้บริการโอทีทีจากต่างประเทศบางราย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมา และแสวงหาพันธมิตร ไม่เช่นนั้นลูกค้าก็จะหนีไปหาผู้ให้บริการายอื่นๆที่มีคอนเทนต์ที่ตนเองสนใจดู”

ผู้ประกอบการไทยแข่งไม่ได้ผันตัวเป็นพันธมิตร

อย่างไรก็ตามเมื่อ ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ก็จะเห็นว่ามีการล้มหายตายจากไปบ้าง หรือเมื่อแข่งไม่ได้ ก็หันไปจับมือ ซึ่งจะเห็นว่าบริษัทผู้ผลิตคอนเทต์ หรือโปรดักชั่นเฮาส์ ของไทย นำคอนเทนต์ไปขาย ให้กับผู้ให้บริการจากต่างประเทศ เพื่อทำโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้สามารถอยู่รอดได้ แต่วีธีนี้ ก็เป็นการที่ผู้ประกอบการไทย ไปยื่มจมูกเขาหายใจ ยอมแบ่งส่วนแบ่งรายได้ ทำให้ผู้ประกอบการของไทยเสียเปรียบลงเรื่อยๆ ตราบใดที่เราไม่มี แพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งของเราเอง หรือสามารถไปโตในตลาดต่างประเทศได้

อนาคตผลกระทบจะหนักขึ้นเรื่อยๆ

สุดท้ายแล้ว “สืบศักดิ์ สืบภักดี” มองว่า ความนิยมการใช้บริการโอทีที ยังไงเราก็ห้ามผู้บริโภคไม่ได้ เพราะมีความสะดวกสบาย มีคอนเทนต์ที่ต้องการดู มีโปโมชั่นที่ล่อใจ แต่อะไรที่เราไม่สร้างหลักเกณฑ์ตั้งแต่ต้น ผลกระทบจะใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อถึงวันหนึ่งที่เรากำกับดูแลไม่ได้ หรือเรียกผู้ประกอบการจากต่างประเทศมาคุย บอกว่าจะออกหลักเกณฑ์ที่ต้องปฎิบัติตาม แต่ทางผู้ประกอบการบอกว่าปฏิบัติตามไม่ได้ ก็มีแนวโน้มที่เราจะควบคุม เรื่องนี้ไม่ได้

ส่วนผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย อาจไม่ใช่เฉพาะผู้ให้บริการโอทีทีเท่านั้น ในอนาคต ขณะที่ผู้ให้บริการ ทีวีภาคพื้นดิน หรือทีวีช่องหลักอาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย คนอาจจะหันมาดูบริการโอทีทีมากกว่าก็ได้

นอกจากนี้ในเรื่องรายได้ ก็ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งทางกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ก็กำลังดู เรื่องนี้อยู่ ซึ่งตอนนี้ปัญหาคือ จะทำกฎหมายอย่างไรให้ครอบคลุมไปถึง เช่น รายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็น การตัดเงินในต่างประเทศ แต่ก็ควรจะมีผลตอบแทนเข้ารัฐบางส่วน จากการทำการค้าการขาย ซึ่งมีคนไทยเป็นลูกค้า ซึ่งหลักการคือ คุณมาทำการค้าขายกับคนไทย ก็ควรมีรายได้ส่วนหนึ่งกลับเข้ารัฐไทย เพื่อที่จะเอาไปพัฒนาประเทศ แต่กรณีนี้เงินจะไหลออกอย่างเดียว เพราะการตัดเงินอยู่ที่ต่างประเทศ เงินไหลออกไปต่างประเทศ

ซึ่งตอนนี้หลายๆ ประเทศก็เจอปัญหาเดียวกัน คือ รัฐบาลสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้ จากการที่คนในประเทศนั้นๆ จ่ายค่าบริการโอทีที

จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องรีบอุดช่องว่างเหล่านี้ หากไม่ทำอะไร ในอนาคตเมื่อคนเข้าถึงบริการมากขึ้นทุกๆวัน ก็จะกลายเป็นเม็ดเงินจำนวนมาหาศาลที่ไหลออกนอกประเทศ แต่ประเทศไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์

ภาพจาก : pixabay.com