เมื่อระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2564 มีการจัดอบรมเพื่อรวมกลุ่มนวัตกรสมัยใหม่จากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ผ่านหัวข้อการอบรม “นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์และปัญญาประดิษฐ์”  เป็นความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ(ไทย-จีน) โดยวิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมฉงชิ่งประเทศจีน จัดการอบรมในรูปแบบonline และ on-site ขึ้น ในการอบรมครั้งนี้เป็นการจัดอบรมเชิงลึกเกี่ยวกับทักษะทางวิชาชีพโดยผู้เชี่ยวชาญ และระดมผู้เข้าอบรมระดับหัวกะทิ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาหุ่นยนต์ AI และปัญญาประดิษฐ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประดิษฐ์ และยังศึกษาทำความเข้าใจในวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนเพื่อสร้างความสอดรับกับยุคโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน

​การจัดอบรมแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

  1. การอบรมผ่านระบบออนไลน์ผ่าน Google class room และ VooV Meeting ในเนื้อหาหลักสูตร “เทคโนโลยีการสื่อสารขั้นพื้นฐานและเครือข่ายคอมพิวเตอร์” “การติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า” และ “การเขียนโปรแกรมแอปพลิเคชั่นหุ่นยนต์อุตสาหกรรม” สร้างขึ้นโดยวิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมฉงชิ่ง และยังเสริมวัฒนธรรมจีนเข้าในหลักสูตร เช่น “วัฒนธรรมชาจีน” และ “ไทเก็กจีน” อีกด้วย
  2. ในภาคปฏิบัติ มีการลงมือ Workshop ร่วมกัน ให้ผู้เข้าอบรมได้สัมผัสกับการใช้นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อเรียนรู้และเข้าใจได้มากขึ้น โดยใช้สถานที่ห้องปฏิบัติการวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก(อี.เทค)

การอบรมด้วยระบบออนไลน์แบ่งหัวข้อออกเป็น 2 หัวข้อคือ

1. หัวข้อ INDUSTRIAL ROBOT&ARTIFICIAL INTELLIGENCE (AI) หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและปัญญาประดิษฐ์ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 เวลา 18.30 – 21.30 น. ผ่านโปรแกรม VooV Meeting บรรยายการอบรมโดยวิทยากร ผศ.ดร. สันทัด ชูวงค์อินทร์ หัวหน้าศูนย์วิจัยร่วมภาครัฐและเอกชน วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการข้อมูล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ซึ่งมีความสนใจในการพัฒนาระบบ Optics, Optoelectronics, Laser, and Nanophotonics เป็นพิเศษ ได้บรรยายถึงแนวทางอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่กำลังเติบโตและแนวทางการยกระดับความอัจฉริยะของระบบเอไอ

2. หัวข้อ ROBOT AND AI INNOVATIONS นวัตกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เวลา 19.00 – 21.00 น. โดยวิทยากร ดร.ภูมิ คงห้วยรอบ อาจารย์และนักวิจัย จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้สร้างชื่อเสียงจากผลงาน “นวัตกรรมหุ่นยนต์ RAIBO-X” หุ่นยนต์ที่ฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่กว้าง ด้วยแสง UV ครั้งแรกของคนไทย  โดยฝีมือ ดร.ภูมิ คงห้วยรอบและนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้บรรยายถึงการทำงานของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ RAIBO-X ที่สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางแบบอัตโนมัติ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่งหุ่นยนต์ RAIBO-X มีการใช้งานด้วยระบบ AI ยังเป็นนวัตกรรมที่มีความสำคัญต่อบุคลากรทางการแพทย์ขณะทำการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย

สำหรับภาคปฏิบัติได้มีการอบรมที่ห้องปฏิบัติการของวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก(อี.เทค) สถานศึกษาซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสิ่งประดิษฐ์ที่มีการเปิดตัวโครงการต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้การอบรมภาคปฏิบัติการมีความเข้มข้นเพราะมีเครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนรู้ที่ทันสมัย ยกระดับการอบรมภาคทฤษฎีสู่การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง

​การอบรมโครงการนี้ถือว่าได้รับความพึงพอใจจากผู้เข้าอบรมเป็นอย่างมาก เพราะเปรียบเสมือนการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีความสนใจด้านนวัตกรรมและมีการบรรยายโดยวิทยากรผู้ซึ่งเป็นตัวเอกด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกร่วมกัน รวมถึงแนวทางการพัฒนาหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ร่วมกันอีกด้วย