สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ว่าจากกรณีสำนักงานสาธารณสุขแห่งรัฐควีนส์แลนด์ยืนยัน การพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ โอไมครอน อย่างน้อย 2 คน โดยผู้ป่วยคนหนึ่ง มีประวัติการเดินทางเชื่อมโยงกับแอฟริกาใต้ และผลการตรวจเชิงลึกจากห้องปฏิบัติการระบุว่า รหัสทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาในร่างกายผู้ป่วยคนนี้ “มีความแตกต่าง” จากเชื้อโอไมครอนดั้งเดิม เบื้องต้นจึงเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “สายพันธุ์คล้ายคลึงโอไมครอน” นั้น
ศ.ปีเตอร์ คอลลิกนอน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและนักจุลชีววิทยา ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาที่อยู่ในร่างกายของผู้ป่วยคนนี้ โดยพื้นฐานยังคงเป็นเชื้อโอไมครอนดั้งเดิม หรือ บี.1.1.529 แต่มียีนหรือรหัสพันธุกรรมที่ต่างออกไป จึงเป็นเหตุผลทางเทคนิค ว่าเพราะเหตุใดถึงยังคงตรวจจับได้ยาก เมื่อยีนตำแหน่งหนึ่งยังคงอยู่ แต่อีกตำแหน่งหนึ่งหายไป จึงมีการอนุมานโดยอัตโนมัติ ว่าไม่ใช่โอไมครอน ทั้งที่ตามหลักการคือเชื้อตัวเดียวกัน ไม่ใช่ “การกลายพันธุ์” และ “สายพันธุ์ใหม่” แต่คือ “สายพันธุ์ย่อย”
ด้าน ศ.แคเธอรีน เบนเนตต์ หัวหน้าภาควิชาระบาดวิทยาลัย มหาวิทยาลัยดีกิน ในรัฐวิกตอเรียของออสเตรเลีย กล่าวว่า ณ เวลานี้ เป็นเรื่องสำคัญ ที่สังคมต้องมีความเข้าใจพื้นฐาน ว่าการค้นพบแบบนี้ “ไม่ใช่เรื่องใหม่ในทางวิทยาศาสตร์” เนื่องจากเชื้อไวรัสทุกสายพันธุ์มียีนแตกต่างกัน ก่อนหน้านี้มีการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อเดลตา โครงสร้างของเชื้อ “ก็ยังไม่เหมือนกัน”
ทั้งนี้ รายงานขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ระบุว่า เชื้อโอไมครอนมีการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามประมาณ 30 ตำแหน่ง และผลการตรวจด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ ต้องไม่พบยีนอย่างน้อย 1 ใน 3 ตัว ตามผลการศึกษา จึงจะถือว่าคือเชื้อโอไมครอน ซึ่งสายพันธุ์ย่อยที่ทางการออสเตรเลียตรวจพบ มีการกลายพันธุ์บริเวณโปรตีนหนาม 14 ตำแหน่ง ถือว่าเข้าเกณฑ์ ส่วนโครงสร้างอื่น รวมถึงยีนของเชื้อโอไมครอนตัวนี้ “ยังเหมือนเดิม”.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES