สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ว่านายหม่อง หม่อง โอน รมว.ข่าวสารของเมียนมา แถลงเมื่อวันอังคาร ว่าคำพิพากษาของศาลที่มีต่อนางออง ซาน ซูจี บ่งชี้ “ความเป็นกลาง” และ “ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย”
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีของเมียนมากล่าวถึงสถานการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารและกองทัพ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,200 ราย นับตั้งแต่วันยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา “เป็นผลจากแรงกดดันของแนวร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร” ที่ส่งผลให้กลุ่มคนหนุ่มสาว “เกิดอารมณ์คล้อยตามง่าย”


อย่างไรก็ตาม นายหม่อง หม่อง โอน ยอมรับว่า มาตรการควบคุมสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ในบางกรณี “เกิดขึ้นโดยไม่เจตนา” แต่การประท้วงลักษณะนี้ไม่สมควรเกิดขึ้นอีก เนื่องจากเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย


ทั้งนี้ ศาลในกรุงเนปิดอว์มีคำพิพากษา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ให้นางออง ซาน ซูจี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมา รับโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ในข้อหาปลุกระดมให้เกิดความแตกแยก และ 2 ปี ฐานละเมิดมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ภายใต้กฎหมายภัยพิบัติทางธรรมชาติ


แต่ต่อมา พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา มีคำสั่ง “อภัยโทษบางส่วน” ซึ่งจะเป็นการลดระยะเวลาจองจำนางซูจี วัย 76 ปี เหลือ 2 ปี และนับจากนี้เธอจะถูกคุมขัง “อยู่ในสถานที่ซึ่งอยู่มาตั้งแต่ต้น” ที่ตีความได้ว่า นางซูจีจะไม่ต้องเข้าสู่เรือนจำ ขณะที่จำเลยร่วม คือดีตประธานาธิบดีวิน มยินต์ วัย 70 ปี ได้รับการลดโทษลงเหลือ 2 ปี และให้รับโทษ “ในสถานที่ซึ่งถูกคุมขังมาตั้งแต่ต้น” เช่นกัน


ในอีกด้านหนึ่ง สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งจะทำหน้าที่ประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ประจำปีหน้า เตรียมเยือนกรุงเนปิดอว์อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 7-8 ม.ค. 2565 ซึ่งจะถือเป็นผู้นำรัฐบาลคนแรกที่เดินทางมายังเมียนมา นับตั้งแต่เกิดการยึดอำนาจครั้งนี้ โดยรัฐบาลกัมพูชาประกาศเรื่องนี้ หลังการพบหารือที่กรุงพนมเปญ ระหว่างสมเด็จฮุน เซน กับนายวันนา หม่อง ลวิน รมว.การต่างประเทศของเมียนมา.

เครดิตภาพ : REUTERS