ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณแนวหญ้าทะเลอ่าวดุหยง บ้านหาดทรายแก้ว หมู่ 7 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง กลุ่มพิทักษ์ดุหยงนำโดยนายสุวิทย์ สารสิทธิ์ หรือบังจ้อน รองประธานกลุ่มฯ พร้อมด้วยสมาชิก และนายกิตติพันธุ์ ทรัพย์คูณ ผู้ประสานงานโครงการ IUCN ประเทศไทย ร่วมกันเก็บขยะพลาสติกและขยะอุปกรณ์ประมง เพื่อทำความสะอาดแนวชายหาด แนวหญ้าทะเล ส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์พะยูน รณรงค์สร้างความตระหนักให้กับสมาชิกในชุมชนเกาะลิบง ประชาชนจิตอาสาต่อ สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบจากขยะทะเล ผ่านกิจกรรม “เกาะลิบงร่วมใจแก้ไขปัญหาขยะทะเล” สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนเกาะลิบงด้านการจัดการขยะ

นายกิตติพันธุ์ เปิดเผยว่า องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้ดำเนินโครงการ “การส่งเสริมรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับท้องถิ่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมปรับปรุงนโยบายด้านการจัดการขยะในระดับท้องถิ่นในพื้นที่เป้าหมาย โดยการพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะในระดับชุมชน ส่งเสริมความร่วมมือของภาคธุรกิจเอกชนและหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบจากขยะพลาสติกและขยะประเภทต่างๆ ขับเคลื่อน จ.ตรัง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์พะยูน ทั้งนี้ IUCN และคณะทำงานจัดการขยะชุมชน หมู่ 4 บ้านบาตูปูเต๊ะ และหมู่ 7 บ้านหาดทรายแก้ว ร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น สนองนโยบายของภาครัฐและดำเนินการตามข้อตกลงของชุมชนด้านการจัดการขยะ และสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบด้านต่างๆ รวมทั้งเป็นการสร้างความสามัคคีและการมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

นายกิตติพันธุ์ เผยต่อว่า นับตั้งแต่ปี 2563 จากสถานการณ์ขยะทะเลไทยในกลุ่มอาเซียน พบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 10 ที่มีขยะทะเลมากที่สุดในโลก ขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมต่างๆ บนบกถึงร้อยละ 80 ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยวริมชายหาด ชุมชนหรือร้านค้าที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำชายฝั่ง รองลงมาเป็นขยะจากเรือประมง เรือขนส่งสินค้า และขยะข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อการท่องเที่ยว การประมง ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพของมนุษย์ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในทะเลอีกด้วย

ด้านนายสุวิทย์ กล่าวว่า กิจกรรมนี้เราให้ความสำคัญกับการเก็บขยะแนวหญ้าทะเล เนื่องจากขยะส่งผลให้การเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของหญ้าทะเลเป็นไปได้ยาก เช่น ขวดและถุงพลาสติก ส่วนขยะทะเลจากเครื่องมือประมงก็ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายากทั้งพะยูน เต่าทะเล โลมา เป็นต้น ในครั้งนี้ได้ร่วมกับ IUCN ในการลงพื้นที่เก็บขยะทั้งบนบก ชายฝั่งและในทะเล ตามปกติกลุ่มพิทักษ์ดุหยงก็มีจิตอาสาในการร่วมกันดูแลทรัพยากรทางทะเลกันอยู่แล้ว เช่นในกรณีพบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น หรือพบซากก็จะประสานเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าเกาะลิบง สัตวแพทย์จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง มาร่วมเก็บข้อมูลด้วยกัน สำหรับขยะบนเกาะลิบงสารมารถเก็บได้เยอะโดยเฉพาะบนฝั่ง ทางกลุ่มยังลงพื้นที่ให้ความรู้กับชาวบ้านในการคัดแยกขยะในครัวเรือน ขยะแบบไหนคัดแยกเป็นตัวเงินได้ตรงนี้ต้องให้ความรู้ อย่างไรก็ตามทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีบทบาท ภาครัฐเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดชุมชนเองก็เช่นกันที่ต้องมาแชร์ความรู้ร่วมกันเพื่อความเป็นรูปธรรมและการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน

โดยย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยได้สูญเสีย พะยูนน้อย “มาเรียม” ที่ได้พลัดหลงฝูงจากแม่ จนมีการนำมาอนุบาลบนพื้นที่เกาะลิบง ทำให้มาเรียมกลายเป็นขวัญใจของคนไทยทั้งประเทศ แต่สุดท้าย “มาเรียม” ได้เสียชีวิตลง เมื่อทีมแพทย์ผ่าชันสูตร กลับพบว่ามีพลาสติกอยู่ในท้อง โดยสรุปสาเหตุว่าจากการช็อก นอกจากนี้ยังพบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง ช่วงแรกของการรักษา สามารถลดการติดเชื้อในระบบหายใจลงได้บางส่วน แต่ในทางเดินอาหารที่มีขยะพลาสติกนั้น ไม่สามารถรักษาได้ จึงลุกลามไปจนช็อก และทำให้พะยูนมาเรียมตายในที่สุด.