นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ผ่านระบบ Zoom ว่า ได้ติดตามการดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะ (เฟส) ที่ 1 โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ในช่วงขอนแก่น-หนองคาย และโครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ สายเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ สรุปได้ดังนี้

1.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เฟสที่ 1 ที่มีผลการก่อสร้างเร็วกว่าแผนงาน มี 3 สัญญา ประกอบด้วย ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญาที่ 1 มีผลงานการก่อสร้าง 62.46%, ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 1 ผลงานการก่อสร้าง 93.99%, ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 2 ผลงานการก่อสร้าง 90.11% 2.ได้สั่งการให้ รฟท. กำกับดูแลให้ผู้รับจ้าง เร่งรัดการก่อสร้างสัญญาที่มีผลการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงาน ให้มีผลการก่อสร้างเป็นไปตามแผนงานโดยเร็ว มี 6 สัญญา ประกอบด้วย ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญาที่ 2 มีผลงานการก่อสร้าง 69.88%, ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 1 มีผลงานการก่อสร้าง 92.10%, ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 3 มีผลงานการก่อสร้าง 88.82%

ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ มีผลงานการก่อสร้าง 99.94%, ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 1 มีผลงานการก่อสร้าง 82.82% และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 2 มีผลงานการก่อสร้าง  82.35% และ 3.ให้ รฟท. เร่งรัดนำเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไปเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟทางคู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนให้มีความสมบูรณ์และสามารถเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์กับ สปป.ลาว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ให้ รฟท. ทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบการดำเนินงานและประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ให้นำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับประสบการณ์ที่มีปัญหาในอดีตมาปรับปรุง ให้การนำเสนอโครงการเกิดความสมบูรณ์ ขณะเดียวกันได้มอบให้ รฟท. รวบรวมข้อมูลปริมาณการขนส่งสินค้าจากการเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีน ว่ามีผลกระทบต่อปริมาณการขนส่งสินค้าภายในประเทศอย่างไร และเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างของ รฟท.นั้น ให้ รฟท. ประสานขอข้อมูลแรงงานในระบบฐานข้อมูลของกระทรวงแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวพร้อมกันนี้ให้ รฟท. ศึกษาแนวทางของกรมทางหลวง (ทล.) ในการป้องกันการขโมยอุปกรณ์ระบบอาณัติสัญญาณ (Signalling) ดังที่เคยเกิดกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์เพดานหนี้สาธารณะของประเทศ ขอให้ รฟท. ศึกษาแนวทางอื่นๆ ที่เหมาะสมกับการดำเนินโครงการของ รฟท. เพื่อลดภาระการพึ่งพางบประมาณของประเทศ เช่น การทำ PPP หรือการศึกษาแนวทางการทำ TFF ของ กทพ. เพื่อให้สามารถแปลงแผนงานไปสู่การปฏิบัติจริงได้

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาสะพานสีมาธานี ให้ รฟท. จัดทำทางเลือกในการดำเนินโครงการให้ครบถ้วน สำหรับนำไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เช่น ทางเลือกในการอ้อมเมืองตามแนวคิดของ MR-MAP และพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางให้ครบถ้วน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนการพัฒนาในอนาคต โดยเฉพาะส่วนที่ผ่านตัวเมืองใหญ่ ให้ รฟท. ออกแบบด้วยความรอบคอบโดยให้นำนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ใหม่ ประกอบการพิจารณาด้วยขณะที่การพัฒนาโครงการรถไฟสายใหม่ ให้ รฟท. ตรวจสอบรายละเอียดให้ครบถ้วนว่ามีปัญหาในส่วนใดหรือไม่โดยจัดทำเป็น Checklist หากมีปัญหาอุปสรรค ให้ดำเนินการแก้ไขตามขั้นตอนทันที