เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) แถลงวันนี้ (14ก.ค.) ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ ประสานความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และทุกภาคีภาคส่วนในการขับเคลื่อนโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ภายใต้นโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนบนแนวทางศาสตร์พระราชาและโมเดลเศรษฐกิจBCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อต่อยอดขยายผลนโยบายของรัฐบาลภายใต้วิกฤติโควิด-19 ในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประชาชนและประเทศชาติและเป็นการสร้างแรงจูงใจในการปลูกไม้เศรษฐกิจตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ 6 ประการ ได้แก่ 1.เพื่อเพิ่มสินเชื่อช่องทางใหม่โดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน 2.เพื่อเพิ่มทรัพย์สิน รายได้ อาชีพและธุรกิจใหม่ๆ ให้กับประชาชน 3.เพื่อลดปัญหาหนี้นอกระบบ 4.เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและนอกเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชนและเมือง แก้ปัญหา Pm2.5 5.เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน (Global Warming) และเพิ่มคาร์บอนเครดิตของประเทศ 6.เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) และยุทธศาสตร์ชาติรวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การเกษตรและเศรษฐกิจ
                                        
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลของกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ รายงาน ณ วันที่ 5 ก.ค. 2564 ว่าตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจับัน มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 87 สัญญา จำนวน 119,498 ต้น วงเงิน 134,375,912.00 บาท โดยแบ่งเป็น กลุ่มให้สินเชื่อรายย่อย (พิโกไฟแนนซ์ ปล่อยสินเชื่อวงเงิน 5 หมื่นถึง 1 แสนบาท) 80 สัญญา คิดเป็น 92% ของสัญญารวมวงเงินค้ำประกัน 4 ล้านบาท กลุ่มสถาบันการเงิน (ธนาคารกรุงไทยและธกส.) 7 สัญญา คิดเป็น 8% ของสัญญา รวมวงเงินค้ำประกัน 130 ล้านบาท ซึ่งแสดงว่าระบบการให้สินเชื่อโดยสถาบันการเงินได้ทำงานแล้วและมีโอกาสในการขยายสินเชื่อโดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้อีกมาก เพราะที่ผ่านมายังดำเนินการได้ไม่มากนัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนมองเห็นโอกาสที่จะต่อยอดขยายผลให้เร่งขับเคลื่อนจึงให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นแกนกลางในการเร่งส่งเสริมปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจบนที่ดินตนเอง สร้างหลักประกันให้กับครอบครัว และความมั่นคงในอนาคตควบคู่ไปกับการใช้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินและเป็นหลักประกันสินเชื่อในการเข้าถึงแหล่งเงินทั้งรายย่อยและรายใหญ่ โดยเกษตรกร ประชาชนและผู้ประกอบการจะได้รับวงเงินสินเชื่อรายย่อย 50,000-100,000 บาทต่อราย และวงเงินสินเชื่อรายใหญ่จากสถาบันการเงิน เช่นธนาคาร เป็นต้น


ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะผนึกความร่วมมือในการขับเคลื่อนขยายผลต่อยอดโครงการนี้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (BEDO) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ภาคการวิจัย เช่นสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สวก. ภาควิชาการเช่นสถาบันการศึกษาทุกแห่ง ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ภาคเอกชนเช่นหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร สภาเอสเอ็มอี ภาคเกษตรกร เช่น สภาเกษตรกรแห่งชาติ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สมาคมเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เกษตรกร ภาคท้องถิ่น เช่น อบจ. เทศบาล อบต. กทม. เมืองพัทยา ภาคีเครือข่ายมูลนิธิ องค์กรเอกชนตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยในวันพรุ่งนี้ (15ก.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อขับเคลื่อนโครงการธนาคารสีเขียวทันที

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ก.ค.64 ที่ผ่านมา นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนและประธานคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองได้จัดประชุมหารือกับนางสาวจรรยา ชื่นสิริพัฒนกุล ผู้อำนวยการกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ นายจิตติศักดิ์ ศรีปัญญา ผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ นายจิรพันธ์ ศรีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน 12 สำนักงานโครงการบริหารจัดการหนี้นอกระบบ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการด้านการเงินและสินเชื่อโดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันรวมทั้ง ประเด็นการกำหนดมาตรฐานผู้ประเมินหลักทรัพย์ (ไม้ยืนต้น) การกำหนดมูลค่ามาตรฐานของหลักทรัพ ย์(ไม้ยืนต้น) และประเด็นพันธบัตรต้นไม้รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)

ก่อนหน้านี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนได้เตรียมการล่วงหน้าโดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project) ต่อยอดนโยบาย Green City เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพัฒนาเกษตรกรรมในเมืองภายใต้ 5 แนวทางของเกษตรยั่งยืน ได้แก่ วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสานและเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างและระบบครอบคลุม 77 จังหวัด ซึ่งเป็นอีกกลไกหลักอีกกลไกหนึ่ง รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำฐานข้อมูลทะเบียนไม้ยืนต้นของเกษตรกรทั่วประเทศไว้แล้วซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารโครงการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงร่วมกับทุกภาคีภาคส่วนต่อไป

“ปัจจุบันรัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายป่าไม้มาตรา 7 โดยยกเลิกไม้หวงห้ามบนที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือ สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน สามารถปลูกและตัดไม้เศรษฐกิจได้เหมือนการปลูกพืชเกษตรทั่วไป ทำให้เป็นโอกาสของประชาชนโดยมีไม้เศรษฐกิจทั้งไม้กลุ่มผลไม้กลุ่มสมุนไพรไม้กลุ่มยางไม้ตระกูลกลุ่มไผ่และไม้ยืนต้นอื่นๆ เช่น 1.สัก 2.พะยูง 3.ชิงชัน 4.กระซิก 5.กระพี้เขาควาย 6.สาธร 7.แดง 8.ประดู่ป่า 9.ประดู่บ้าน 10.มะค่าโมง 11.มะค่าแต้ 12.เคี่ยม 13.เคี่ยมคะนอง 14.เต็ง 15.รัง 16.พะยอม 17.ตะเคียนทอง 18.ตะเคียนหิน 19.ตะเคียนชันตาแมว 20. ไม้สกุลยาง 21.สะเดา 22.สะเดาเทียม 23.ตะกู 24.ยมหิน 25.ยมหอม 26. นางพญาเสือโคร่ง 27.นนทรี 28.สัตบรรณ 29.ตีนเป็ดทะเล 30.พฤกษ์ 31.ปีบ 32.ตะแบกนา 33.เสลา 34.อินทนิลน้ำ 35.ตะแบกเลือด 36.นากบุด 37.ไม้สกุลจำปี 38.แคนา 39.กัลปพฤกษ์ 40.ราชพฤกษ์ 41.สุพรรณิการ์ 42.เหลืองปรีดียาธร 43.มะหาด 44.มะขามป้อม 45.หว้า 46.จามจุรี 47.พลับพลา 48.กันเกรา 49.กระทังใบใหญ่ 50.หลุมพอ 51.กฤษณา 52.ไม้หอม 53.เทพทาโร 54.ฝาง 55.ไผ่ทุกชนิด 56.ไม้สกุลมะม่วง 57.ไม้สกุลทุเรียน 58.มะขาม ฯลฯ สามารถนำไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ รวมถึงการส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ“ นายอลงกรณ์ กล่าวในตอนท้าย.