ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ห้องแถลงข่าว ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ต.เขาตูม อ.ยะรัง จังหวัดปัตตานี พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก ศบค.ส่วนหน้า เปิดเผยผลจากการเร่งรัดปฏิบัติการเชิงรุกในทุกมิติภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นโดยลำดับ สำหรับมาตรการรองรับการเตรียมเปิดประเทศบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าดำเนินการในทุกมิติ ทั้งการรณรงค์เข้ารับการฉีดวัคซีน, การจัดชุดปฏิบัติการเชิงรุกเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดย ATK และการฉีดวัคซีนเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จ (CCRT) ตลอดจนการปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ส่งผลให้อัตราการติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกและการเสียชีวิตลดลงมาโดยลำดับ แต่ยังไม่สามารถรณรงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้โดยมียอดที่ต้องฉีดวัคซีนเพิ่มเติมอีก 325,380 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหากไม่สามารถฉีดได้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้อาจส่งผลกระทบต่อแผนการเปิดประเทศให้ทันช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 และการเปิดการเรียนแบบ On Site โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนและสถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีผลการฉีดวัคซีนเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก และผลจากการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 19/2564 เมื่อวันที่ 26 พ.ย.64 ได้มีการปรับลดระดับพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) พร้อมทั้งได้กำหนดมาตรการผ่อนคลายการดำเนินกิจการ/กิจกรรมหลายอย่าง แต่ยังไม่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่จังหวัดนำร่องการท่องเที่ยวทั้ง 3 ระยะ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล เว้น อ.เมือง, อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา จ.สงขลา ที่จะเปิดเป็นพื้นที่นำร่องระยะที่ 2 ตั้งแต่ 16 ธ.ค.64 เป็นต้นไป

แนวโน้มการเปิดพื้นที่นำร่องของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทางศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ได้มีการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ย.64 เพื่อกำหนดมาตรการไปสู่เป้าหมายที่ทุกคนคาดหวังคือการเปิดพื้นที่ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยจากการประเมินเรื่องของความคืบหน้าในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังพบปัญหาอยู่บางประการ ซึ่งส่งผลให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องในการเปิดพื้นที่ โดยที่ประชุม ศบค.ส่วนหน้า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์ covid-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการประสานกำชับให้ทุกจังหวัดกำหนดโมเดลของแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมาตรฐานการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงมาตรการ covid free setting ให้เป็นไปตามกระทรวงสาธารณสุข

จากกระแสข่าวของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่พบว่ามีการแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศของทวีปแอฟริกา ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางด้านนายกรัฐมนตรี ท่านมีความกังวลมีกังวล สั่งการเน้นย้ำให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการวางมาตรการในการป้องกันเรื่องดังกล่าว สำหรับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 4 ผู้บัญชาการทหารบก ได้เน้นย้ำเรื่องของการสกัดกั้นตามแนวชายแดน ซึ่งได้มีการสั่งการให้กองกำลังป้องกันชายแดนได้มีการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้ดำเนินการสกัดกั้นโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าว รวมถึงเฝ้าระวังสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษี หรือสินค้าเกษตรเลี่ยงภาษีรวมไปถึงอาวุธสงคราม ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และเข้มงวดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับกลุ่มบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศที่พบว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน”