เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จัดงานนำเสนอผลการวิจัยและเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะเพื่อเตรียมรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เป้าหมาย ด้านสังคม แผนงานศักยภาพและโอกาสของผู้สูงอายุ โดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า หากพิจารณาจากสัดส่วนของผู้สูงอายุในประเทศไทยซึ่งมีเกินร้อยละ 10 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งตลอด 14 ปี และจะเข้าสู่ปีที่ 15 ในการก่อตั้งมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ ได้ส่งเสริมงานวิจัยและขับเคลื่อนคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งพัฒนาหลักสูตร องค์ความรู้ต่างๆ เพื่อเตรียมเตรียมพร้อมผู้สูงอายุในทุกรูปแบบ ไม่ว่าการจะจัดองค์ความรู้ อบรมหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาวิทยาลัยในการจัดทำต้นแบบชุดหลักสูตรความรู้ที่เหมาะสมในการจตัดตั้งผู้สูงอายุ และดำเนินการจัดทำรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุ เป็นต้น

“การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีนโยบาย แผน และแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมผู้สูงอายุมากมาย แต่เมื่อดูในเชิงปฎิบัติ กลับพบว่า ไม่ได้มีการใช้สมาคม มูลนิธิ หรือกองทุนของผู้สูงอายุอย่างจริงจัง เป็นการดำเนินการที่หน่วยงานต่างๆ ต้องจัดการเอง ซึ่ง 3 เรื่องที่ต้องเร่งเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีดังนี้ 1.ระบบสาธารณสุข มุ่งเน้นการรักษา ป้องกันโรคปัจจุบัน มากกว่าความถดถอยตามสภาพร่างกายของผู้สูงอายุและโรคเรื้อรังต่างๆ ในกลุ่มผู้สูงอายุ 2.ระบบสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ยังไม่มีการกำหนดสวัสดิการรองรับผู้สูงอายุอย่างดี ทั้งการขนส่ง สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ หรือเรื่องเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุก็ยังไม่ชัดเจน รวมถึงสิทธิบัตรทอง ระบบการรักษาพยาบาลต่างๆ และ3.ระบบงบประมาณในการส่งเสริมพัฒนากลุ่มผู้สูงอายุ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเงิน รายได้ของผู้สูงอายุนั้น พบว่าก่อนโควิด-19 มีผู้สูงอายุร้อยละ 40 จะมีรายได้จากการทำงาน และร้อยละ 80 ได้รับเงินจากลูกหลาน ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีความพร้อม สำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 รายงานว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่มีเงินออมเกิน 1 ล้านขึ้นไป มีประมาณ ร้อยละ 14 ขณะเดียวกันกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินปีละ 30,000 บาท มีร้อยละ 4

“ถ้าพิจารณาตามสถิติสถานภาพชีวิตในด้านเศรษฐกิจของผู้สูงอายุไทย หากมองรวมๆ เหมือนมีชีวิตที่ดีแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ผู้สูงอายุไทย 100 คน มีผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน 7 คน สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมจริงๆ ของผู้สูงอายุมีปัญหาอยู่แล้ว ยิ่งเกิดโควิด-19 ยิ่งทำให้สถานภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจผู้สูงอายุประสบปัญหามากขึ้น กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้จากการทำงาน และจากลูกหลานให้เงินใช้นั้น ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากช่วงก่อนโควิด-19 ฉะนั้น บำเหน็จบำนาญ เบี้ยยังชีพมีความสำคัญอย่างมากในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมีการเร่งวางระบบการช่วยเหลือ เตรียมพร้อมเงินบำเหน็จบำนาญ และเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุทุกคนได้อย่างเท่าเทียม สามารถอยู่ได้ไปตลอดชีวิต” ศ.ดร.วรเวศม์ กล่าว

นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ประเทศไทยต้องเดินแบบไหน ถึงจะใช้ชีวิตสูงวัยได้อย่างมีคุณภาพ ว่าสังคมปัจจุบันเท่ากับสังคมแบบ 99:1 คือ เป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำสุดๆ การพัฒนาจะเป็นประโยชน์ต่อคนเพียงร้อยละ 1 ส่วนคนร้อยละ 99 ไม่ได้รับผลประโยชน์ ซึ่งสังคมไทยเป็นสังคมแบบตัวใครตัวมัน และเหลื่อมล้ำแบบสุดๆ  ส่วนสาเหตุที่เป็นอย่างนี้ เพราะเกิดจาการพัฒนาแบบแยกส่วน เศรษฐกิจ ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้งแต่เอาจีดีพีเป็นตัวตั้ง ขณะที่การศึกษาไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง แต่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง การพัฒนาแบบนี้จะนำไปสู่การเสียสมดุลในทุกมิติ ทำให้ชีวิตถูกทอดทิ้ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กและคนพิการ

“ผู้สูงอายุในไทย ตอนนี้จน แก่ ป่วย ถูกทอดทิ้งเปลี่ยวเหงา รู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ และการเข้าถึงบริการต่างๆ ก็แพงสุดๆ ซึ่งเมื่อผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองไม่มีประโยชน์จะกระทบต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งที่ผู้สูงอายุมีประโยชน์ มีประสบการณ์มากมาย อีกทั้งการเข้าถึงการรักษาพยาบาล มีแต่บริการไกลหรือแพงมาก  เรื่องเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไข ต้องทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่าย ดีและมีคุณภาพ มีบริการที่ฟรีแก่ผู้สูงอายุ” นพ.ประเวศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สัมประสิทธิคุณภาพชีวิตหรือพิจารณาคุณภาพชีวิตจากต้นทุนทั้งหมดสังคมเมืองในไทย พบว่ามีประโยชน์ต่อคนเพียงร้อยละ 1 ของประชาชนทั้งหมดเท่านั้น เพราะต้นทุนทั้งหมดมีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับคุณภาพชีวิตที่จะได้รับน้อยลง ขณะที่หน่วยทางสังคมที่มีสัมประสิทธิคุณภาพชีวิตสูงสุด คือ ต้องมีอัตลักษณ์และดุลยภาพของชีวิต ฉะนั้น ต้องมีระบบการอยู่ร่วมกันอยู่สมดุลในชุมชน ทั้งชุมชนขนาดเล็กประชากร 500-1,000 คน ร่วมจัดการ มีประชาธิปไตยชุมชนพัฒนาอย่างบูรณาการ 8 มิติ เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย