วันนี้ (23 พ.ย.) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานมูลนิธิวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แถลงข่าวทางออนไลน์ว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้ของทาง ทรูและดีแทค ค่อนข้างอันตรายต่อการผูกขาดตลาด ผู้ได้อานิสงส์ผลกระทบทางบวก คือ ผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ส่วนผู้ได้รับผลทางลบ คือผู้บริโภคด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์เมื่อควบรวมแล้วจะทำให้เหลือผู้เล่นเพียงสองราย การแข่งขันและตัดราคากันจะน้อยลงไปด้วย  

ขณะที่คู่ค้าของผู้ให้บริการที่อาจจะมีอำนาจต่อรองลดลง ส่วน ธุรกิจสตาร์ทอัพที่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนลดลงจากบริษัทที่หายไปหนึ่งราย ส่วนรัฐบาลจะได้รับผลกระทบรายได้ลดลง ถ้ามีการประมูลคลื่นความถี่ เนื่องจากผู้เข้าประมูลลดลง รายได้ของรัฐย่อมลดลง

ขณะที่ประชาชนก็มีโอกาสจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อไปทดแทนรายได้ของรัฐที่หายไป ถัดมาคือระบบเศรษฐกิจไทย ผลของการควบรวมกิจการจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีต้นทุนสูงขึ้น การประกอบอาชีพ การค้าขายออนไลน์ การเรียนออนไลน์ ฯลฯ จะได้รับผลกระทบทั้งหมด

ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า เมื่อมีการควบรวมกิจการเกิดขึ้น ตลาดโทรศัพท์มือถือจะกลับไปครั้งที่มีผู้ประกอบการเพียงสองราย ยังไม่มีทรูมูฟ คือย้อนไป 15 ปี หรือย้อนกลับไปที่ปี 2547 ถ้าตลาดย้อนกลับไปเหมือนในอดีต อาจเกิดการปรับตัวของราคาค่าบริการที่สูงขึ้น หรือการเกิดแพ็กเกจที่ไม่เกิดประโยชน์กับผู้บริโภค และยิ่งจะกระทบกับการทำธุรกิจ เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันมีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือและบริการไร้สายในการทำธุรกิจ บริการโทรคมนาคม ถ้าเหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือแค่สองราย จะเกิดผลกระทบอย่างมากกับผู้บริโภค เพราะเป็นกิจการที่มีผู้ประกอบกิจการน้อยราย

“กสทช. มีหน้าที่ในการดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาด จึงควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ มีแนวโน้มที่ กสทช.จะบอกว่าไม่มีอำนาจในการควบคุมไม่ให้เกิดการควบรวมกิจการ จึงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ การควบรวมกิจการโทรคมนาคมมีกฎหมายเกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม และกฎหมายแข่งขันทางการค้า กสทช. มีอำนาจในการกำหนดมาตรการป้องกันการควบรวมกิจการได้ ถ้า กสทช. ไม่มีอำนาจ ก็ยังมีกฎหมายป้องกันการผูกขาดการแข่งขันทางการค้า ที่ทาง กขค.สามารถเข้ามามีอำนาจในการกลั่นกรองและดูแลแทนได้” ดร.สมเกียรติ กล่าว