ปตท.เล็ง เห็นความสำคัญของการศึกษา และได้ริเริ่มหลายโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยขณะเดียวกันก็ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนผ่านหลายๆ องค์กร รวมถึงมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ซึ่งต่อยอดจากโครงการสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี มีทุกภาคส่วน รวมถึงพันธมิตรภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำงานกว่า 44 องค์กร

หลายปีที่ผ่านมามูลนิธิฯ เดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานกรรมการ มีการหารือ “แนวทางความร่วมมือ 3 ภาคส่วนในการสนับสนุนการศึกษาไทย ประจำปี 2564” รูปแบบออนไลน์ โดยมีองคมนตรี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และวางแผนการดำเนินงานให้การศึกษาไทยได้รับการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำหรับการวางแผนงานการทำงานระยะต่อไปของมูลนิธิฯ มุ่งเน้น 5 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1. การเปิดเผยข้อมูลโรงเรียนสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส (Transparency) มีการเก็บข้อมูลสมุดพกดิจิทัล (Student Report Card) ในโรงเรียนนำร่อง คอนเน็กซ์อีดี เพื่อวิเคราะห์นักเรียนรายบุคคล ให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างตรงจุด ตามความถนัด ขณะเดียวกันก็ใช้เกณฑ์การวัดระดับคุณภาพโรงเรียน (School Grading) รูปแบบใหม่ มีการปรับน้ำหนักตัวชี้วัด 5 ด้าน เพิ่มด้านคุณธรรม ความยั่งยืน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วม

ยุทธศาสตร์ที่2. กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (Market Mechanism) โดยตั้ง 5 คณะทำงานภาครัฐเอกชน เพื่อแยกการทำงานตามความเชี่ยวชาญ ได้แก่ 1. คณะทำงานโครงการคอนเน็กซ์อีดี ระดับสานักงานเขตพื้นที่การศึกษา 2. คณะกลั่นกรองแผนพัฒนาโรงเรียน 3. คณะติดตามและประเมินผล 4. คณะวิจัย ถอดบทเรียนองค์ความรู้ และ 5. คณะการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้ดำเนินหลายๆ กิจกรรม อาทิ อบรมออนไลน์พัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ (School Partners) เพื่อให้เข้ามาร่วมผลักดันยุทธศาสตร์สู่โรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีทั่วประเทศ และระดมทุนโครงการคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เพื่อการศึกษา (Notebook for Education) ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการสมทบทุนจัดหาอุปกรณ์ดิจิทัลแก่นักเรียนในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีที่ขาดแคลนทั่วประเทศ ผ่านเว็บไซต์ connexted.org พร้อมกับจัดการอบรม Notebook-based Learning แก่โรงเรียนที่ร่วมโครงการด้วย

ยุทธศาสตร์ที่3. การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน (High Quality Principals & Teachers) โดยเปิดรับสมัคร ICT Talent ภาครัฐ รุ่นที่ 2 จำนวน 800 คน และเดินหน้าอบรม ICT Talent ภาครัฐ ส่งเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของครู และนักเรียนในโรงเรียนกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็จัดอบรมเพื่อเสริมทักษะต่างๆ แก่ผู้อำนวยการและครูด้วย

ยุทธศาสตร์ที่4. เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ (Child Centric & Curriculum) มีการสร้างสรรค์โมเดล CONNEXT ED Morality Innovation” เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม แก่เยาวชนไทยยุคดิจิทัล นำร่องในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี และประเมินผลก่อนส่งมอบให้ภาครัฐต่อไป

รวมถึงจัดทำคลังความรู้จากพันธมิตร ให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สื่อส่งเสริมการเรียนแบบ Child Centric บนคลังข้อมูลอย่างเป็นระบบ และขยายผล Learning Center จาก 13 เป็น 18 แห่ง เพื่อสร้างการจัดการเรียนรู้บนพื้นฐานของ 3 วงกลมความยั่งยืน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการ Child Centric ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 5. การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา (Digital Infrastructures) ผ่านโครงการคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อการศึกษา ให้ครู และนักเรียนสามารถประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึงแห่งการเรียนรู้จากทั่วโลกได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยจะมีการจัดอบรมห้องเรียนดิจิทัลให้กับโรงเรียนนำร่องที่ได้รับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก พร้อมกับประเมินการทำงานของโรงเรียนด้วย

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนของมูลนิธิฯ ตาม 5 ยุทธ์ศาสตร์ดังกล่าว จะนำมาซึ่งการพัฒนาศักยภาพให้กับเด็กไทยในอนาคต ผ่านเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่จะแผ่ขยายความร่วมมือไปยังองค์กรต่างๆ มากขึ้นในอนาคต ให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไทยอย่างยั่งยืน