ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอศิลป์เฉลิมพระเกียรติ มรภ.อุตรดิตถ์ อาจารย์วรวุฒิ ทาแก้ว ประธานหลักสูตรสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ พร้อมด้วยอาจารย์ปิยะนุช ไสยกิจ อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ และคณะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.อุตรดิตถ์ ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ออกแบบนิเทศศิลป์ Communication Art Design : Online Thesis Exhibition 2021 ภายใต้แนวคิด TEN SKillS หรือ 10 สกิล สื่อถึงบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในงานออกแบบทักษะเฉพาะของตนเองที่มีความหลากหลายในผลงาน แต่สามารถเชื่อมโยงและอยู่รวมกันได้ ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านเพจ Facebook มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

เพื่อเผยแพร่การสร้างสรรค์ผลงานด้านการออกแบบของนักศึกษาสู่สาธารณชน ส่งเสริมให้นักศึกษาได้มองเห็นศักยภาพของตนเอง เป็นการขยายผลและพัฒนาวิสัยทัศน์ พัฒนาความสัมพันธ์ที่มีอยู่ และแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ด้านการเรียนการสอน การทำวิจัย การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมถึงสร้างเครือข่ายไปยังสถาบันต่างๆ

อาจารย์วรวุฒิ กล่าวว่า การจัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะนิพนธ์ออกแบบนิเทศศิลป์ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในวิชาศิลปนิพนธ์ออกแบบนิเทศศิลป์ ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรศิลปบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ด้วยสภาวะของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้นักศึกษารุ่นนี้กลายเป็นรุ่นแรกที่จัดนิทรรศการศิลปนิพนธ์ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นการบูรณาการความรู้ด้านต่างๆ ของนักศึกษาที่ได้เรียนรู้มาตลอดหลักสูตร ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา ในรูปแบบของการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบผลงานที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา โดยเน้นการฝึกทักษะความคิดเชิงสร้างสรรค์และเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประยุกต์ให้ทันสมัย ทางด้านศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับผลงานที่นักศึกษาได้ออกแบบเป็นผลงานในรูปแบบต่างๆ เน้นต่อยอดสินค้าชุมชนให้มีความน่าสนใจ ร่วมสมัย และมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่น

การจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษา การแสดงเดินแบบแฟชั่นโชว์ผลงานต่างๆ ของนักศึกษา การแสดงละครซีรีส์ที่เชื่อมโยงกับผลงานวิจัยของนักศึกษา 10 คน ประกอบด้วย การออกแบบกระเป๋าอเนกประสงค์สตรีจากผ้าซิ่นตีนจก, การออกแบบเครื่องประดับเงินจากตัวอักษรล้านนา, การออกแบบลวดลายด้วยแรงบันดาลใจจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนผลิตภัณฑ์รองเท้า, การออกแบบเครื่องประดับจากแก้วโป่งข่าม, การออกแบบกระเป๋าจากลวดลายประตูวัดดอนสัก, การออกแบบสร้างสรรค์ชุดเครื่องแต่งกายจากผ้าฝ้ายลายงาขี้ม่อน, การออกแบบสร้างสรรค์ศิลปะการปักผ้าด้วยมือจากเรื่องราวการละเล่นของคนไทย, การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชุดตัวเลขไทย, ศิลปะภาพพิมพ์ชุดพระพุทธรูปประจำวันเกิด, การออกแบบกราฟิกบนกระเป๋าสตางค์ ชุด “เป๋าตัง มั่งมี”