เมื่อได้ยินคำว่า “มรรคง่าย” หลายคนคงนึกถึงพฤติกรรมของคนที่ “มักง่าย” คือ จะอะไรก็เอาสะดวกเข้าว่า เช่น ทำงานให้เสร็จๆ ไป แล้วค่อยมาแก้ไขกันใหม่ คำว่า “มัก” ภาษาอิสานแปลว่า “ชอบ” ดังนั้น “มักง่าย” แปลแบบชาวบ้านคือ ชอบทำอะไรง่ายๆ ไม่จริงจัง ทำแบบสุกเอาเผากิน ไร้ระเบียบขาดความรับผิดชอบ หยิบอะไรมาใช้แล้วก็ไม่เก็บเข้าที่เข้าทาง รวมๆแล้วคือ นิสัยเสีย

แต่ “มรรคง่าย” ภาษาพระท่านหมายถึง “หนทางการทำงานที่ง่ายและงาม” หลายครั้งที่ไปบรรยายธรรมในหน่วยงานราชการหรือบริษัทเอกชน จะเริ่มต้นการบรรยายธรรมด้วยคำถามว่า “งานเสร็จ” กับ “งานสำเร็จ” ต่างกันอย่างไร ?

ได้รับหลายมุมมองของคำตอบ เช่น งานต้องเสร็จให้ทันเวลา และสมบูรณ์เรียบร้อยจึงเรียกว่างานเสร็จแล้วสำเร็จ แต่คำตอบที่ชัดเจน คือ พระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ 9 ความตอนหนึ่งว่า “เมื่อจะทำงาน อย่าหยิบยกเอาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้าง จงทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้บรรลุผล ด้วยความตั้งใจ และความซื่อสัตย์”

หลายท่านก็ท้อแท้เพราะทำงานแล้วแต่ไม่ได้ดี “ในหลวง” รัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ขณะกำลังทำงานอยู่ในสภาพที่จิตใจย่ำแย่มาก ไม่มีกำลังใจทำอะไร ท้อแท้กับงานมาก ไม่มีใครเข้าใจ เหมือนทำดีแต่ไม่ดี “ในหลวง” ท่านเสด็จมาพอดี พระองค์ทรงตั้งคำถามและรับสั่งว่า

“ท่านสุเมธเคยขายเศษเหล็กไหม เศษเหล็กเหล่านั้น เวลาขายคุณค่ามันต่ำมาก คงได้เงินไม่กี่บาท แล้วถ้าเราเอาเศษเหล็กเหล่านั้นมาหลอมรวมกันเป็นแท่ง เวลาหลอมนี่เหล็กมันคงร้อนมาก พอหลอมเสร็จเรานำมาทำเป็นดาบ คงต้องนำมาตีให้แบนอีก เวลาตีต้องเอาไปเผาด้วย ตีไปเผาไป อยู่หลายรอบกว่าจะเป็นรูปดาบอย่างที่เราต้องการ ต้องผ่านความเจ็บปวด ความร้อนอยู่นาน แถมเมื่อเสร็จแล้ว ถ้าจะให้สวยงามดังใจ ก็ต้องนำไปแกะสลักลวดลาย ก็ต้องใช้ของมีคมมาตีให้เป็นลวดลายอีก แต่เมื่อเสร็จเป็นดาบที่งดงาม ก็จะมีคุณค่าที่สูงมาก เทียบกับเศษเหล็กคงจะต่างกันลิบลับ จะเห็นได้ว่ากว่าที่เศษเหล็กมีคุณค่าไม่มากนัก จะกลายเป็นดาบที่งดงามนั้น ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย ทั้งความเจ็บปวดต่าง ๆ กว่าจะประสบความสำเร็จ ดังนั้น ขอให้จำไว้อย่างหนึ่งว่า ใครไม่เคยถูกตี ถูกทุบ เจอเรื่องเลวร้ายในชีวิตมาเลยนั้น จงอย่าได้หาญคิดทำการใหญ่” พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสมือนพรของชีวิตเป็นคำตอบของการทำงานแบบ “มรรคง่าย”

การใช้ชีวิตแบบ “มรรคง่าย” คือ เลือกพูดให้ง่าย สื่อสารให้ง่าย จัดพื้นที่ทำงานให้หาของง่ายๆ ทำตัวในที่ทำงานให้ง่ายๆ กินง่ายอยู่ง่าย ทำงานที่รับผิดชอบให้ง่ายต่อการเข้าถึง เพื่อนร่วมงานเข้าถึงตัวได้ง่าย เป็นเจ้านายก็ลองเปิดประตูห้องทำงาน เป็นลูกน้องก็เงยหน้ามอง เป็นเพื่อนร่วมงานก็หันหน้าเข้าหากัน เพราะการทำงานแบบ “มรรคง่าย” นั้น จะสำเร็จได้ต้องสมดังกับพระพุทธพจน์บทที่ว่า

“อุฏฺฐานวโต สตีมโต สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ” ยศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่นมีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วทำ ระวังดีแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม และไม่ประมาท

ที่สำคัญ อย่าทำงาน “แบบมักง่าย”

………………………………………

คอลัมน์ : ลานธรรม

โดย : พระสุธีวชิรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี