นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์  รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยในงาน Powering Digital Thailand 2022 ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเร่งขับเคลื่อนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัยครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเพิ่มรายได้ให้ประชาชนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) และช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลได้ถูกพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 5จี ที่เป็นประเทศแรกๆ ที่จัดประมูลและเปิดใช้งาน มีการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงปีที่ผ่านมา มีการใช้บิ๊กดาต้า ขณะที่การซื้อขายสินค้าออนไลน์ เติบโตอย่างมาก และยังมีการลงทุนในสตาร์ทอัพของไทย จนไทยมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นเกิดขึ้นแล้วถึง 3 รายด้วยกัน

“ในปี 61 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยคิดเป็น 17% ของจีดีพีประเทศ จากนั้นขยายตัวต่อเนื่อง โดยช่วงปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 10 % ต่อปี ซึ่งถือเป็น 2.5 เท่าของอัตราการเติบโตของจีดีพีในประเทศ แม้จะเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้จีดีพีโดยรวมของประเทศลดลงก็ตาม แต่เศรษฐกิจดิจิทัล และนวัตกรรมดิจิทัลของประเทศไทยยังคงมีความเคลื่อนไหว และเติบโตในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง โดยทางกระทรวงฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยจะเติบโต และมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 ของจีดีพีประเทศได้ และภายในปี 73 หรือ 9 ปีข้างหน้าหรือเร็วกว่านั้น เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยจะพุ่งไปถึง 30% ของจีดีพี” นายชัยวุฒิ กล่าว

นายกัว ผิง ประธานกรรมการบริหารแบบหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยยังคงเชื่อมั่นในการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 ของภูมิภาคนี้ ซึ่ง เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะ 5G คลาวด์ และ AI จะกลายเป็นเสาหลักของการฟื้นตัวและความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ

“หัวเว่ยจะยังคงสร้างนวัตกรรมและอีโคซิสเต็มของเทคโนโลยีต่อไป เพื่อช่วยให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสามารถก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดยได้ใช้ 5G คลาวด์ และ AI เพื่อช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล และจะมุ่งมั่นสร้างนวัตกรรมให้แก่โซลูชันคลาวด์และ AI ต่อไป เพื่อสร้างคุณค่าที่แข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งนี้ หัวเว่ยวางแผนจะลงทุนเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสามปีต่อจากนี้เพื่อช่วยสร้างอีโคซิสเต็มให้แก่สตาร์ทอัพในภูมิภาค และเชื่อมั่นว่าทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะประสบความสำเร็จในการผลักดันตัวเองเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งหัวเว่ยจะวางรากฐานอันแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้ เพื่อรองรับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในอีก 10 ปีข้างหน้า”

ด้านนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หัวเว่ยจะมุ่งมั่นผลักดันเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทยซึ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่าน 4 แนวทางหลัก แนวทางแรกคือ การเชื่อมต่อที่ครอบคลุมทั่วถึงผ่านเทคโนโลยี 5G โดยการประยุกต์ใช้ 5G ในภาคอุตสาหกรรมแนวดิ่งต่างๆ แนวทางที่สองคือ หัวเว่ย คลาวด์ โดยจะสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลอัจฉริยะในประเทศไทยผ่านบริการคลาวด์ทุกรูปแบบ ซึ่งปัจุบันหัวเว่ยเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลกเพียงรายเดียวที่มีศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย

ทั้งยังเตรียมขยายศูนย์ข้อมูลแห่งที่สามเพื่อรองรับการให้บริการภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ แนวทางที่สามคือ การสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรองรับแนวทางการพัฒนาที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทย ภายในปี พ.ศ. 2593 ตามกลยุทธ์ของประเทศ และแนวทางที่สี่คือ การสร้างอีโคซิสเต็มแห่งนวัตกรรมอันอุดมสมบูรณ์ในประเทศไทย ด้วยศูนย์ 5G ecosystem innovation center โครงการ Spark Program และโครงการ Huawei ASEAN Academy รวมถึงโครงการสำหรับบ่มเพาะทักษะดิจิทัลต่างๆ

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมั่นใจว่าประสบการณ์ในธุรกิจพลังงานกว่า 30 ปีของหัวเว่ย พร้อมด้วยนักวิจัยในสายอุตสาหกรรมพลังงานมากกว่า 6,000 คน และการแบ่งสัดส่วนรายได้ของเราเกือบ 15% เพื่อใช้เป็นงบประมาณด้านการวิจัยพัฒนาในทุก ๆ ปี จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายนี้ได้

“หนึ่งในนวัตกรรมที่น่าจับตามองในอีเวนท์ครั้งนี้คือพลังงานอัจฉริยะดิจิทัลพาวเวอร์ โดยหัวเว่ยได้เปิดตัวส่วนธุรกิจดิจิทัลพาวเวอร์ในตลาดประเทศไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานสะอาดที่จะเข้ามาทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิลแบบดั้งเดิม ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและผลักดันพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีเป้าหมายในการสร้างสังคมอัจฉริยะที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ”