คณะกรรมาธิการสหประชาชาติ ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Commission on Crime Prevention and Criminal Justice) หรือ CCPCJ ได้ประชุมเมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานหลักที่เข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนประเทศไทย คือ หน่วยงานสำคัญในกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ซึ่งประเทศไทยได้เสนอข้อมติ “การใช้การกีฬาเป็นยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน” (Integrating sport into youth crime prevention and criminal justice strategies) ซึ่งต่อยอดจากข้อมติในหัวข้อเดิมที่ไทยเคยนำเสนอเมื่อปี พ.ศ.2563

สาระสำคัญ คือ การรับรองการจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเกี่ยวกับ “การใช้กีฬาเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน” (Expert Group Meeting) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค.2562 โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้เป็นเวทีวิเคราะห์และรวบรวมมาตรการและแนวปฏิบัติจากนานาชาติในการนำกีฬามาใช้เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรม ตลอดจนเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐในการนำไปบรรจุเป็นนโยบายระดับประเทศและระดับสากล

มติดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการกีฬาในฐานะเครื่องมือการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสร้างพื้นที่ในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน (Community of Practice) ให้ความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ตลอดจนการประสานงานร่วมกัน เพื่อการบูรณาการกีฬาในการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการเสนอร่างข้อมติดังกล่าว TIJ ยังได้เข้าร่วมการประชุมคู่ขนาน หัวข้อ “แนวทางในการป้องกันอาชญากรรมโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานด้านกีฬา เยาวชน และชุมชน” (Holistic crime prevention approaches: The contribution of the sport sector towards youth and community resilience) จัดโดย UNODC และรัฐการ์ตา โดยในกิจกรรมคู่ขนานนี้ ประเทศต่าง ๆ ได้มีการนำเสนอ แนวปฏิบัติที่ดี (Good practice) เช่น รัฐกาตาร์ รัฐบาลได้กำหนดให้ทุกวันอังคารที่ 2 ของเดือน ก.พ. เป็นวันกีฬาแห่งชาติ และลงทุนในกิจกรรมที่สนับสนุนกีฬาทุกรูปแบบ และประเทศฮอนดูรัสที่ลงทุนสร้างสปอร์ตคอมเพล็กซ์ในโครงการ Park for Better Life เพื่อสนับสนุนการนำกีฬามาใช้ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

สำหรับ CCPCJ เป็นคณะกรรมาธิการภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council – ECOSOC) ของสหประชาชาติ (United Nation) เพื่อเป็นเวทีให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และข้อมูล เพื่อพัฒนากลยุทธ์ระดับชาติและระดับสากล นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังมีการกำหนดแนวทางในการพัฒนาระบบงานยุติธรรมรวมถึงการป้องกันอาชญากรรม ผ่านการเสนอร่างมติ (Resolution)