สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ว่า พล.ต. จอ มิน ตุน รมช.ข่าวสารของเมียนมา แถลงเมื่อวันจันทร์ ยืนยันว่า นายแดเนียล เฟนสเทอร์ ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน วัย 37 ปี ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำอินเส่ง และเดินทางกลับสหรัฐแล้วจริง โดยรัฐบาลทหารเมียนมา “มีความตั้งใจปล่อยตัว” เฟนสเทอร์ และการดำเนินการที่เกิดขึ้น “เป็นไปตามเหตุผลด้านมนุษยธรรม” และความมุ่งมั่นของทางการเมียนมา ในการรักษาความสัมพันธ์อันดันดีกับนานาประเทศ พร้อมทั้งยืนกรานปฏิเสธ “การมีข้อแลกเปลี่ยน” กับสหรัฐ

นายบิล ริชาร์ดสัน อดีตเจ้าหน้าที่การทูตอาวุโสของสหรัฐ ถ่ายภาพคู่กับนายแดเนียล เฟนสเทอร์ ก่อนเดินทางออกจากกรุงเนปิดอว์


อย่างไรก็ตาม การได้รับอิสรภาพของเฟนสเทอร์เกิดขึ้น หลังนายบิล ริชาร์ดสัน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) เยือนกรุงเนปิดอว์ เมื่อต้นเดือนนี้ และได้เข้าพบกับพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศในกรุงวอชิงตัน ออกแถลงการณ์แสดงความยินดี และวิจารณ์การที่เฟนสเทอร์ “ถูกควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรม” นานเกือบ 6 เดือน


ทั้งนี้ เฟนสเทอร์ถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้ง เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และศาลทหารในเมืองย่างกุ้ง มีคำพิพากษาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ให้เฟนสเทอร์รับโทษจำคุกและใช้แรงงานหนักเป็นเวลา 11 ปี จากความผิดฐานเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ เพื่อการปลุกระดม “การติดต่อกับองค์กรผิดกฎหมาย” และการละเมิดกฎหมายคนเข้าเมือง นอกจากนั้นยังแจ้งข้อหาเพิ่มเติม เกี่ยวกับการก่อการร้ายและการปลุกระดมด้วย


ด้านเฟนสเทอร์ซึ่งร่วมงานกับ “ฟรอนเทียร์ เมียนมา” ในตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร กล่าวระหว่างเตรียมตัวเดินทางออกจากเมียนมา ว่าการจับกุมและคุมขังเขา “เกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุผล” อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเรือนจำ เฟนสเทอร์ยืนยันว่า ตัวเองไม่เคยถูกทำร้ายหรือถูกบังคับให้ต้องอดอาหาร


อนึ่ง รายงานของยูเอ็นระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาจับกุมผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 126 คน ในจำนวนนี้ 47 คน ยังคงอยู่ในเรือนจำ และมีการสั่งฟ้องผู้สื่อข่าวในกลุ่มนี้แล้ว 20 คน.

เครดิตภาพ : AP